นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครกล่าวถึงขั้นตอนว่า เมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าเสพยาเสพติด ตำรวจหรือเจ้าพนักงาน ปปส. ตรวจสอบประวัติ เมื่อไม่ปรากฏเป็นผู้ต้องหาหรือไม่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี รวมทั้งหากไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ไม่มีพฤติกรรมที่เกิดจากโรคทางจิตและประสาทหรืออาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติด และสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา เจ้าหน้าที่นำส่งตัวไปยังศูนย์คัดกรอง 20 แห่ง ที่ตั้งกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์คัดกรอง ดำเนินการคัดกรอง ประเมินระดับการติดยาเสพติด ภาวะเสี่ยงทางกาย ทางจิต และสังคม และส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษาตามระดับปัญหาการเสพติดและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล รูปแบบผู้ป่วยนอก ณ คลินิกก้าวใหม่ คลินิกก้าวใหม่พลัส ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และโรงพยาบาลตากสิน และให้การฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบผู้ป่วยใน ณ บ้านพิชิตใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในระหว่างรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จะมีการประเมินสภาพปัญหา และปรับรูปแบบในการบำบัดรักษาฟื้นฟูตามความเหมาะสม หากผู้ป่วยต้องการรับความช่วยเหลือ ส่งต่อศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ที่พักอาศัยชั่วคราว ทุนประกอบอาชีพ การศึกษา การฝึกอาชีพ จัดหางาน และอื่นๆ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง หลังจากนั้น สถานพยาบาลจะติดตามดูแลหลังผ่านการบำบัดรักษา อย่างต่อเนื่อง 1 ปี เพื่อให้ครอบครัวได้รับสมาชิกคนเดิมที่สดใส มีชีวิตใหม่ และได้ความสุขกลับคืนสู่ครอบครัว ตามแนวคิดกรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย เข้าใจและให้โอกาส โดยสามารถโทร.สอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน 1555 และ 1567 และ traffy fondue