งานวิจัยส่วนแรก คือ การตั้งสมมุติฐาน อะไรจะเกิดขึ้น ถ้านาข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นถึง 90 % ของพื้นที่นาข้าวในภาคอีสาน จากฐานข้อมูลโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ของรัฐบาล พร้อมกับฉายภาพในอนาคต 17 ปีข้างหน้า จาก พ.ศ.2562-2578 ได้ภาพฉากทัศน์ 4 สถานการณ์ คือ 1) ถ้ารัฐไม่สานต่อโครงการ จะมีนาข้าวอินทรีย์เพิ่มเป็น 1 ล้านไร่ หรือ 3 % ของพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสาน ในปี 2578 2) ถ้ารัฐสานต่อโครงการ นาอินทรีย์จะเพิ่ม 1 ล้านไร่ทุก ๆ 5 ปี หรือ 11 % ของพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสาน ในปี 25783) รัฐมีโครงการเสริมด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นาอินทรีย์เพิ่มขึ้น 15 ล้านไร่ หรือ 41 % ของพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสาน 4) ความยั่งยืนเต็มรูปแบบ ตลาดต้องการข้าวอินทรีย์ มีโครงการกระตุ้นจากรัฐบาล นาอินทรีย์ขยายตัวถึง 32 ล้านไร่ หรือ 87% ของพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสาน ในปี 2578ส่วนที่ 2 นักวิจัยได้ลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บข้อมูลการผลิตข้าว ทั้งแบบทั่วไปและแบบอินทรีย์ โดยสำรวจทุนการผลิต 4 ด้าน 1.ทุนทางธรรมชาติ 2.ทุนทางมนุษย์ 3.ทุนทางเศรษฐกิจ 4.ทุนทางสังคม ข้อมูลต่าง ๆ ถูกแปลงให้เป็นตัวเลขต้นทุน ด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์ของนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ ได้ชุดข้อมูลหลัก ตัวแทนของสถานการณ์ที่ 1 และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ 4 อีก 17 ปีข้างหน้า จึงได้ผลลัพธ์ ดังนี้ 1.ความหลากหลายทางชีวภาพ สะท้อนต้นทุนการผลิต การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้แมลงโดยเฉพาะแมลง ควบคุม ศัตรูพืชตามธรรมชาติลดลง ขณะที่การขยายตัวของข้าวอินทรีย์ ทำให้ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าปกติ ถึง 4 เท่า และเมื่อนาอินทรีย์ที่ขยายเต็มพื้นที่ จะใช้ต้นทุนในการปรับเปลี่ยน 10,500 ล้านบาท แต่ชาวนาก็ประหยัดต้นทุน ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ 10,500 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน และยังสามารถประหยัดค่าปุ๋ยเคมีได้อีก 2,610 ล้านบาท 2.ทำนาถูกวิธี สะท้อนสุขภาพโลก แม้การทำนาอินทรีย์ในสถานการณ์ที่ 4 จะสร้างก๊าซเรือนกระจกสูง จากการหมักบ่มและการใช้ปุ๋ยคอก ซึ่งคิดเป็นต้นทุน 720 ล้านบาท แต่ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่เผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่าได้ราว 210 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีอัตรากักเก็บคาร์บอนในดินสูงกว่านาข้าวทั่วไป สร้างมูลค่าได้อีกราว 990 ล้านบาท 3.ทำนาผิดวิธี สะท้อนสุขภาพคน อย่างที่ทราบกันดีว่าฝุ่น PM2.5 นั้น สร้างผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เมื่อไม่มีการเผาวัสดุทางการเกษตร จะเกิดผลประโยชน์จากการลดต้นทุนด้านสุขภาพ ได้มากกว่า 15,000 ล้านบาท ในขณะที่การทำนาอินทรีย์ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากสารพิษกำจัดศัตรูพืชได้ราว 108,840 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพทั้งสองส่วนนี้ สร้างมูลค่ารวมกันได้ 124,380 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงผลดีจากการขยายตัวของนาข้าวอินทรีย์ได้อย่างชัดเจน 4.ผลผลิตที่ต่างกันเล็กน้อย ผลผลิตเฉลี่ยข้าวอินทรีย์ 15.23 ล้านตัน/ปี อาจดูน้อยกว่าข้าวทั่วไป 15.40 ล้านตัน/ปี ซึ่งถ้ารวมระยะเวลา 17 ปี จะสูญเสียรายได้สะสม 11,000 ล้านบาท แต่เป็นการสูญเสียเพียง 1% ของมูลค่าข้าวทั้งหมดในสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งถ้าราคาข้าวอินทรีย์สูงขึ้นเพียง 3.5% ของราคาข้าวทั่วไป จะสามารถชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปได้ 5.ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและชุมชน การผลิตข้าวอินทรีย์ได้ส่งเสริมความกินดีอยู่ดี ทั้งด้านอาหาร สังคม และวัฒนธรรม กลุ่ม มีความไว้วางใจ นำไปสู่การพัฒนาทุนทางสังคม มีการส่งเสริมบทบาทสตรีที่สูงกว่า 6.สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า แม้ข้าวอินทรีย์ จะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชนซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่ก็สร้างผลลบต่อตัวชาวนาในแง่เศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าข้าวอินทรีย์มีราคาเท่ากับข้าวทั่วไป ขณะที่ชาวนา ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเส้นทางการผลิตด้วยตัวเอง 7.ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย เนื่องจากข้าวอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รัฐจึงควรต่อยอดโครงการอินทรีย์ 1 ล้านไร่ พร้อมมีโครงการอื่น ๆ ควบคู่กันไปให้เกิดความต่อเนื่อง, รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกร ตระหนักถึงปัจจัยเชิงบวกของ ข้าวอินทรีย์ เพื่อเสถียรภาพของตลาดข้าวอินทรีย์, สามปีแรกของช่วงเปลี่ยนผ่าน ชาวนาจะเผชิญกับปัญหาการผลิต รัฐจึงควรมีเงินอุดหนุน การประกันราคาข้าว และสร้างตลาดที่สะท้อนมูลค่าแท้จริงของข้าวอินทรีย์, รัฐควรสนับสนุน การรวมกลุ่มของ เกษตรกร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการขอใบรับรองมาตรฐาน การผลิตข้าวอินทรีย์ จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ คงเป็นคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป แต่จากงานวิจัยที่ฉายให้เห็นภาพฉากทัศน์ในอนาคต ก็ทำให้เราได้รู้แล้วว่า ข้าวอินทรีย์นั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยั่งยืน ในระบบการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นทางเลือก ที่ทำให้เราได้รู้คุณค่าของข้าว เพื่อชีวิตและธรรมชาติ นั่นเอง