ร้อนนี้อย่าประมาท โรงพยาบาลพญาไท 2 เตือน “Heat Stroke” ภัยร้ายหน้าร้อน

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้!

ผศ.พญ.ชิดชนก เธียรผาติ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาท รพ.พญาไท 2 แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงผู้ที่ดูแลกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ควรเฝ้าสังเกตหรือป้องกันดังต่อไปนี้
1. เด็กมีการอ่อนเพลียระหว่างทำกิจกรรม แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำอยู่ภายในอาคารหรือในร่ม แต่ถ้าอากาศมีความอบอ้าวจนถึงร้อน และกิจกรรมนั้นทำให้เสียเหงื่อมาก ก็มีโอกาสเกิดอาการฮีทสโตรก อาการแรกที่เราจะพบกับเด็ก คือตัวแดงเหมือนเป็นไข้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อสัมผัสตัวเด็กกลับพบว่า ตัวเด็กตัวเย็น
2. บางคน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายที่พอสื่อสารได้ สื่อสารสับสน กระวนกระวาย เหมือนคนไม่ได้สติ มีอาการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว หลังจากนั้นอุณหภูมิในร่างกายจะสูง อาจจะสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวจะแห้ง ชีพจรจะเต้นถี่ แรง และหมดสติในที่สุด เมื่อเจอ ฮีทสโตรกคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ เริ่มการปฐมพยาบาลขั้นต้น ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อลดอุณหภูมิที่สูง
     1. นำตัวเด็กเข้าพื้นที่ร่ม อากาศเย็น หรือเข้าห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก
     2. จัดท่าให้เด็กนอนราบ และยกเท้าสูงกว่าศีรษะเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
     3. ปลดเสื้อผ้าเพื่อช่วยในการระบายความร้อน
     4. หากเด็กยังมีสติ ให้จิบน้ำเรื่อย ๆ แต่ไม่ควรให้ดื่มเป็นปริมาณเยอะ ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว ประคบตามซอกตัว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้เร็วขึ้น ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดราดตัว เพราะอาจจะทำให้เกิดตะคริวมากขึ้น

การป้องกัน ลดเจอร้อน ลดฮีทสโตรกได้ หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีแดดจัดหรือช่วงที่มีอากาศร้อน รวมถึงในพื้นที่หรือสถานที่ร้อนอบอ้าว เป็นการลดโอกาสในการเกิดฮีทสโตรกได้ดีที่สุด เน้นเสื้อผ้าที่สวมใส่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย สวมหมวกช่วย หากมีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เตรียมน้ำดื่มและให้เด็กๆ ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอก็จะช่วยได้มาก นอกจากนี้เด็ก ๆ ที่ภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมาก หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ผู้จัดกิจกรรมควรพิจารณาให้เด็กงดเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเด็กที่ป่วยบางโรคหรือการใช้ยาบางชนิดเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ง่ายกว่าเด็กปรกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2 อาคาร B ชั้น 2
โทร. 02-617-2444 ต่อ 3219, 3220 หรือ Phyathai Call Center 1772

Facebook : https://www.facebook.com/Phyathai2HospitaI/