หากพูดถึง "SDGs (Sustainable Development Goals)" หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ประการของสหประชาชาติ ไม่ใช่เพียงเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการแก้ไข ไม่ใช่เพียงเรื่องของเอกชนรายใหญ่ ๆ หรือภาคประชาสังคมเท่านั้นที่จะมาขับเคลื่อน และไม่ใช่เพียงเรื่องของนักอนุรักษ์มารณรงค์รักโลก แต่ SDGs เป็นเรื่องของคนทุกคนที่หากคุณอาศัยอยู่บนโลกใบนี้คุณต้องมีส่วนร่วมใน SDGs ทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนในแวดวงธุรกิจ เพราะหากธุรกิจของคุณไม่ออกแบบให้สอดคล้องกับ SDGs อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถขายของได้เพราะเป็นระเบียบบังคับในหลายประเทศว่า จะไม่ซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่ไม่ตอบโจทย์นี้ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม่เฉพาะปลายทางการทำธุรกิจอย่างการขายเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับต้นทางของธุรกิจด้วย เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ จะพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจที่วางแผนดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับ SDGs เพราะเป็นนโยบายจากองค์กรใหญ่ที่ดูแลธนาคารต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการปล่อยกู้อีกทอดหนึ่ง ปัจจุบันเราจึงได้ยินคำว่า SDGs กันบ่อยครั้งรวมไปถึงคำว่า ESG (Environment Social Governance) และ BCG (Bio Circular Green) ด้วยเพราะ 3 สิ่งนี้จะเป็นเกณฑ์สำคัญให้คนทำธุรกิจต้องทำ ซึ่งก่อนที่จะนำ ESG BCG หรือแม้แต่ SDGs ไปใช้ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจที่มาและค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง 3 สิ่งนี้ เพื่อที่เราจะได้นำไปใช้เป็นโอกาสทองได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำแบบไม่รู้ (แต่ต้องทำเพราะข้อบังคับ) จนกลายเป็นความล้มเหลว เสียเงิน เสียเวลา โดยไม่บรรลุผลและสุดท้ายอาจต้องกลับมาตั้งหลักเริ่มใหม่ โดยการเข้าใจถึงความสัมพันธ์และความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดและยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจะช่วยให้เราเข้าใจและสามารถปรับแนวทางการทำงานขององค์กรให้ไปถูกทิศ ด้วยการเริ่มจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในช่วงยุคการเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมที่ผู้คนทำไร่ ไถนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม หรือ Industial Revolution ที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการผลิตและ Henry Ford ได้ก่อเกิด Assembly Line หรือไลน์การผลิตที่ปฏิวัติจากหนึ่งคนต้องทำทุกงานเพื่อให้เกิดสินค้าขึ้นมาหนึ่งชิ้น มาเป็นหนึ่งคนทำเฉพาะหน้าที่ที่ตนเชี่ยวชาญถนัดเพียงหนึ่งอย่างแล้วส่งต่อเป็นสายพานลำเลียง สิ่งนี้สามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ เพราะการสร้างสายการผลิตแบบลำเลียงส่งต่อจะช่วยร่นระยะเวลาและผลิตสินค้าได้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน จนทุกโรงงานเห็นข้อดีเรื่องสายงานการผลิตแล้วเกิดการเลียนแบบและนำมาใช้กันเป็นที่แพร่หลาย Assembly Line จึงไม่ใช่ข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งอีกต่อไป บริษัทจึงต้องกลับมาดูว่า แล้วอะไรที่จะทำให้ตนกลับมาเหนือคู่แข่งได้อีกครั้ง คำตอบคือการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในองค์กร ด้วยสมมติฐานที่ว่า หากพนักงานมีความพึงพอใจและแรงจูงใจที่มากขึ้นผลผลิตที่ได้จะมากขึ้นตามไปด้วย ทฤษฎีต่าง ๆ จึงถูกนำมาใช้ เช่น Hierarchy of Needs ของ Maslow และเกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง Human Resource หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลขึ้น เพื่อพัฒนาคนในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อการทำเช่นนี้สำเร็จผล บริษัทอื่น ๆ ก็เกิดการเลียนแบบเช่นเดียวกับเหตุการณ์สายการผลิตที่ผ่านมา จนข้อได้เปรียบนั้นกลายเป็นความธรรมดาที่ทุกบริษัทมีเหมือน ๆ กันอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทต่าง ๆ จึงหันกลับมาพัฒนาในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ระบบขนส่ง (Logistics) หีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือปัจจัยอื่น ๆ และสุดท้ายแต่ละบริษัทไม่สามารถหาจุดแข่งขันที่จะเอาชนะคู่แข่งเพิ่มได้อีกต่อไป จึงมาเน้นเรื่องการบริหารขององค์กรหรือธรรมาภิบาล (Governance) ชูความโปร่งใสและเป็นธรรมในการจ้างงาน ปราศจากการกดขี่แรงงานต่างด้าว ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก การยื่นภาษีอย่างถูกต้อง เป็นต้น จนเกิดเป็นกระแสมีระเบียบบังคับให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ ซึ่งนั่นก็คือ Governance นี้ก็คือตัว “G” ใน ESG นั่นเอง หลังจากที่บริษัทแข่งขันการเรื่องธรรมาภิบาลกันอย่างเป็นปกติ และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้มีการกำหนดเรื่องธรรมาภิบาลไว้เป็นข้อปฏิบัติ จนสิ่งนี้ไม่ใช่ข้อได้เปรียบแต่เป็นข้อบังคับที่พึงปฏิบัติ เมื่อถึงจุดที่บริษัทแข่งกันเรื่องภายในของตัวเองอย่างธรรมาภิบาลไม่ได้อีกต่อไป จึงต้องขยายวงกว้างทำในสิ่งที่มากกว่าทำเพื่อตนเอง นั่นคือ Social หรือการทำเพื่อสังคมจนเกิดเป็นกระแสการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และสิ่งนี้คือ “S” ใน ESG และก็เช่นเดิมที่เมื่อการแข่งขันดูแลสังคมใช้ได้ผล ทำให้ทุกบริษัทก็ต่างใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อไม่ให้ด้อยกว่าคู่แข่ง ทั้งธรรมาภิบาลและสังคมคือสิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึง การสร้างความได้เปรียบจึงต้องขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้นจนครอบคลุมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและโลก (Environment) ซึ่งคือตัว “E” ESG จึงถือกำเนิดขึ้น เป็นอุดมการณ์ที่บ่งบอกว่าบริษัทที่ขายสินค้าและบริการนั้น ๆ ดำเนินกิจการด้วยหลักธรรมาภิบาล ดูแลสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและโลก ซึ่งเป็นเรื่องของ Profit-กำไร People-สังคมและผู้คน Planet-โลกและสิ่งแวดล้อม คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าสินค้าหรือบริการไหนที่ดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง จึงเกิดการแตกแขนงออกมาเป็นคำว่า Bio Curcular Green หรือ เศรษฐกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเห็นลำดับการเกิดขึ้นของ ESG และ BCG กันแล้ว คราวนี้มาถึงคำที่แม้จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 อย่างคำว่า SDGs (Sustainable Development Goals) หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเปรียบเสมือนการลงรายละเอียดของ ESG เพราะหาก ESG คืออุดมการณ์ที่ธุรกิจใช้ประกาศตัวว่าจะไม่ทำการค้าขายที่เป็นมิจฉาอาชีวะ SDGs ก็คือรายละเอียดที่ระบุอย่างชัดเจนว่ามิจฉาอาชีวะคืออะไรบ้าง เป็นรายละเอียดที่จับต้องได้ ซึ่งในรายละเอียด ESG มี 3 เสาหลักที่ประกอบด้วย 3 P People Planet และ Profit พอแตกมาเป็นรายละเอียดใน SDGs จะประกอบด้วย 5 P ได้แก่ - People คนและสังคม : ประกอบด้วย SDG1 ขจัดความยากจน SDG2 ยุติความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม และ SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ - Planet สิ่งแวดล้อม : ประกอบด้วย SDG6 การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน SDG13 รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และ SDG15 ระบบนิเวศบนบก - Prosperity ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Profit ใน ESG) : ประกอบด้วย SDG7 พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้ SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี SDG9 อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG11 เมืองและชุมชนยั่งยืน - G Governance ใน Peace สันติภาพและความสงบสุข : ที่มี SDG16 - การกระทำกันด้วย Partnership หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา : ที่มี SDG17 นั่นเอง นั่นคือที่มาและความเชื่อมโยงของ ESG BCG SDGs ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในแง่การทำธุรกิจไม่ว่าจะห้างร้าน บริษัท อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต่างก็พยายามผลักดันตนเองให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ด้วยเพราะเป็นข้อกำหนดต่าง ๆ ของรัฐบาล เกณฑ์การประเมินของตลาดหลักทรัพย์ เงื่อนไขสำคัญในการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น หรืออาจถูกบังคับด้วยข้อกำหนดจากบริษัทคู่ค้าที่ระบุว่าธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรหรือร่วมหุ้นนั้นต้องมีความยั่งยืน ที่มีใช้ทั้งการลงโทษหากบริษัทต่าง ๆ ไม่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือใช้ผลประโยชน์เข้าล่อว่าทำแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วการนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องยากลำบากและประสบความสำเร็จน้อยราย ซึ่งจากผลสำรวจและรายงานจากต่างประเทศพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้ยาก นั่นเป็นเพราะขาดคุณสมบัติบางประการหรือที่เรียกว่า IDGs (Inner Developement Goals) สถาบันคิดใหม่โดยมี ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นำทีมอำนวยการ จึงได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะและทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อองค์กร ได้ก่อตั้ง IDG Bangkok Community Hub (IBCH) ขึ้นเพื่อดำเนินการแบ่งปันความรู้ และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณสมบัติให้แก่ผู้นำและบุคคลผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมทำ Workshop ในการพัฒนาตามแนวคิด IDG ด้านต่าง ๆ โดยกิจกรรมจัดขึ้นทุกวันพุธ เวลา 17.30-19.30 น. และร่วมฟังบรรยายเจาะลึกคุณสมบัติต่าง ๆ ได้ทุกวันเสาร์ที่ 4 ของทุกเดือนเวลา 13.00 - 16.00 น. ณ สถาบันคิดใหม่ ติด BTS อารีย์ ทางออก 1 หรือใครที่ไม่สะดวกสามารถติดตามบทความความรู้ ข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคตของชุมชนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมชนนี้ได้ทันทีด้วยการแอดไลน์ด้านล่างเพื่อกรอกสมัครสมาชิก และสำหรับบริษัทหรือหน่วยงานใด ต้องการให้ "ดร.ใหม่" ช่วยออกแบบองค์กรให้ตอบรับกับนโยบาย ESG BCG และ SDGs ที่จะกลายมาเป็นระเบียบ ข้อบังคับที่สำคัญและมีบทบาทต่อธุรกิจทั่วโลกในอนาคต สามารถติดต่อได้ที่ไลน์ @dr.veeranut