สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ผนึกกำลังพันธมิตรทั้ง ภาครัฐ เอกชน เตรียมจัดใหญ่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โค้งสุดท้ายของกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี เมืองเชียงใหม่” ทีมใดจะคว้าสุดยอดนวัตกรรมหรือโซลูชันที่ใช่ สู่การพัฒนาชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ ชิงเงินรางวัลรวม 1,000,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ตลอดจนโอกาสในการต่อยอดแผนธุรกิจต่อไปในเวทีระดับประเทศ ร่วมลุ้นและให้กำลังใจพร้อมกัน 29 เมษายนนี้ นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า จากที่ ETDA พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์คนสำคัญ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ เทคซอส มีเดีย เดินหน้าจัดกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี เมืองเชียงใหม่” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ที่ใช่ที่จะเข้ามาพัฒนาและยกระดับชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง วันที่ 15 มีนาคม 2566 พบว่า มีทีมสมัครเข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 90 ทีม และจากการคัดเลือกอย่างเข้มข้น โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก ETDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเเละเอกชน จนเหลือ 15 ทีมสุดท้ายที่ได้ไปต่อในกิจกรรมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือ Pitching Day ได้แก่ ทีม Blockchain-based Wellness PHR & Health Data Management Platform, ทีม Daywork Smart Escort, ทีม Dietz Telemedicine Station, ทีม Fitsloth, ทีม Happo - Your Mental Test Kit, ทีม Kaset Market (เกษตร มาร์เก็ต), ทีม OmegaAI, ทีม ProWam (Pro-Active Precision Water Management), ทีม S.T. Care, ทีม Smile Migraine, ทีม Talk to PEACH, ทีม Trident Intelligence Management System, ทีม We Chef Food Truck Platform, ทีม เชียงใหม่ ลดเผา ลดฝุ่น และ ทีมโปรแกรมบริหารคลินิก และสถานพยาบาล ศูนย์บริการสุขภาพ Miracle Clinic System ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 15 ทีมได้ร่วมพัฒนาไอเดีย ทักษะ สู่การต่อยอดนวัตกรรม โซลูชัน จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ผ่านกิจกรรม Workshop ถึง 4 ครั้ง ภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น "Customer Insight for Solution Development" How to สู่การพัฒนาต่อยอดไอเดีย นวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชันของแต่ละทีม อย่างมืออาชีพ รวมถึง Market Research ที่น่าสนใจ ไปกับผู้รู้ตัวจริง ก่อนต่อด้วย หัวข้อ “UX Design” โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Product Design จากบริษัท MAQE ที่ทำให้ได้เรียนรู้ เข้าใจ และฝึกฝนกระบวนการออกแบบ User Experience สำหรับ Digital Product ตั้งแต่ต้นจนจบ ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Persona, User Journey Mapping เป็นต้น ตลอดจน หัวข้อ "Challenges in Data Analytics ความท้าทายของการทำ Data Analytics" ที่ได้รู้จักกับข้อมูลพื้นฐาน การจัดเตรียม Data และการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อสร้าง Data Platform และทราบถึงการเคลื่อนย้ายข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการข้อมูลสำหรับผู้เข้าแข่งขัน ไปจนถึงการทำ Data Analytics ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ Service Provider ในการนำไปปรับใช้ต่อไป และอีกไฮไลท์คือการทำ Data Canvas ที่ทุกทีมได้ร่วมทำกิจกรรมสำรวจว่าจริงๆ แล้วในแต่ละทีมมีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Data อย่างไรบ้าง เป็นต้น ก่อนปิดท้ายด้วยกิจกรรม Mentoring Session ที่เปิดคลินิกให้คำปรึกษาแบบใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงถึง 11 ท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมเป็น Mentors แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่ไหนในครั้งนี้ด้วย สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Pitching Day ในกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี เมืองเชียงใหม่” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2566 เวลา 12.30-18.30 น ณ ห้องประชุม NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) ทั้ง 15 ทีมจะต้องร่วมประชันไอเดีย นำเสนอนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ของแต่ละทีม ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับและพัฒนาชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ ในรูปแบบ Pitching ภายใต้โจทย์สุดท้าทาย 3 หัวข้อหลักที่ครอบคลุมทั้งในเรื่อง Good Home - บ้าน (เมือง) สะอาดดี นวัตกรรมเปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ ด้วยการยกระดับมาตรฐานด้าน สุขอนามัยและความสะอาดของพื้นที่ Good Healthcare – บริการสุขภาพดี นวัตกรรมยกระดับบริการสุขภาพ เพื่อให้คนเชียงใหม่เข้าถึงบริการ สุขภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค Covid-19 Good Food for Health – อาหารการกินดี นวัตกรรมที่จะช่วยให้อาหารการกินในเมืองเชียงใหม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นไปในแนวทางเพื่อสุขภาพมากขึ้น ตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบปลอดสาร ไปจนถึงความหลากหลายของอาหารที่จะทำให้สุขภาพผู้บริโภคดีขึ้น เป็นต้น โดยนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ที่จะได้รับรางวัล จะต้องเป็นนวัตกรรมที่สามารถทำได้จริงและนำไปใช้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างเหมาะสม และทุกทีมจะต้องนำเสนอนวัตกรรมต่อเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), คุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA, รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ (MEDCHIC), รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), คุณพิศุทธ์ พิศุทธกุล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่, ผศ.ดร.มณิษวาส จินตพิทักษ์ รองหัวหน้าสํานักวิชาการศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี สํานักวิชาศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และ พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน Influencer นักแสดงและพิธีกร เป็นต้น ที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินและคัดเลือกนวัตกรรมเพื่อคนเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ด้วย รางวัลสำหรับผู้ชนะ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1: เงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ ประกาศนียบัตร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: เงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ ประกาศนียบัตร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3: เงินรางวัล 150,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ ประกาศนียบัตร และรางวัลขวัญใจกรรมการ 2 รางวัล รางวัลละ 75,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ทั้งนี้ทีมผู้ชนะทั้ง 5 ทีมจะได้รับ AWS Credit พร้อมทั้งโอกาสในการทดสอบนวัตกรรมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่และการสนับสนุนต่อยอดจาก Partner อื่นแก่ทีมผู้ชนะและทีมที่เข้าร่วมกิจกรรม และพิเศษสุด ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโอกาสพิเศษในการเข้าร่วมต่อยอดแผนธุรกิจต่อไปในเวทีระดับประเทศในงาน Techsauce Global Summit 2023 เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันและพัฒนานวัตกรรมในระดับประเทศต่อไป ประชาชนท่านใดที่สนใจสามารถร่วมลุ้น ร่วมเชียร์ ทั้ง 15 ทีมไปพร้อมๆ กัน กับกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี เมืองเชียงใหม่” ได้ในวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป สามารถลงทะเบียนและรับชมผ่านการถ่ายทอดสดที่ช่องทางออนไลน์ Zoom ได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/41DFdp0 หรือติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/hackforgood