"มีดีนาทับเพราะนาทับมีดี" ปลัด มท. พร้อมนายกแม่บ้าน มท. ลงพื้นที่อำเภอจะนะ

วันนี้ (19 พ.ค. 66) เวลา 09:00 น. ที่กลุ่มมีดีนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบภาคใต้ บูรณาการร่วมกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรณัฐ หนูรอต นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประกอบด้วย ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.อนุชา ที่รคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมลงพื้นที่ โดยมี คุณครูจันทิมา สุขเมตตา นายณัฐพัชร์ ยีด้ำ และนายธณกร สุขเมตตา ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมบาติกเพ้นท์ มีดีนาทับ และคณะเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา สมาชิกกลุ่มมีดีนาทับ ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมรับชมการแสดงดีเกร์ ฮูลูของนักเรียนโรงเรียนบ้านม้างอน และเยี่ยมชมการผลิตผ้าบาติกของสมาชิกกลุ่มมีดีนาทับ ซึ่งเริ่มต้นก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จากแนวคิดที่ได้กลับมาอยู่บ้านเกิดตำบลนาทับ มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด เห็นคุณค่าความงามธรรมชาติของหาดวังหนาว และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเลจะนะ จังหวัดสงขลา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลุ่มมีดีนาทับ เป็นผู้ประกอบการผ้าบาติก ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" รวมทั้งลายผ้าพระราชทาน มาเป็นเครื่องมือในการประยุกต์ลวดลายผ้าบาติก โดยนำลายผ้าพระราชทานมาตกแต่ง ดัดแปลง ผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมของกลุ่ม ออกมาเป็นชิ้นงานที่มากด้วยคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรม และเป็นผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืนของผืนผ้า หรือเรียกว่า Sustainable Fashion โดยมีวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตผ้า เช่น เทียน สี น้ำยากันสีตก และอื่น ๆ สามารถหาซื้อได้ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตมีส่วนสำคัญมาก มีโรงเรือนผลิตผ้าบาติก การผลิตผ้าทำมือ ที่เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สถานที่ผลิตเป็นโรงเรือนโล่ง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก วัตถุดิบที่ใช้ผลิตเริ่มตั้งแต่ผ้า เป็นผ้าจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน นำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาสกัดสี ได้แก่ ใบคนทีสอทะเล ใบขี้เหล็ก ใบมะม่วงหิมพานต์ ผล และเปลือกเต้า เป็นต้น โดยที่สำคัญนั้น เทียนที่ใช้ในการเขียนลายก็ไปทอนเทียนพรรษาจากวัดบ้าง ซื้อบ้าง เทียนและขี้ผึ้งที่ต้มเพื่อเขียนผ้าก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อต้มเทียนออกจากผ้า รอให้เทียนเย็นเป็นแผ่นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สารที่ใช้กันสีตก คือ โซเดียมซิลิเกต ที่ทำมาจากเกลือและทราย นอกจากนี้ กลุ่มมีดีนาทับ ยังได้น้อมนำพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ด้วยการน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง" มาเพาะปลูกพืชผักสวนครัวภายในกลุ่ม ไว้บริโภคในครัวเรือน และแจกจ่ายให้กับพี่น้องสมาชิกภายในชุมชน พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการขยะ เป็นมนุษย์ 3Rs คือ Ruduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) มีการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมการทำผ้าบาติกให้กับคนในชุมชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง นั่นคือการถ่ายทอดสู่ลูกหลานเด็กและเยาวชนคนนาทับ ซึ่งเป็นการทำให้คนที่ไม่มีรายได้ได้มีรายได้ ทำให้ลูกหลานได้ใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ไปลุ่มหลงมัวเมากับอบายมุขต่าง ๆ นับว่าเป็นการทำให้คนทุกคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยขอให้กลุ่มได้มีการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ผ้ากับผู้ประกอบการภายในประเทศ เช่น ไหมปักธงชัย เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและนำวัสดุทางธรรมชาติในประเทศให้เกิดการแลกเปลี่ยนและกระจายรายได้ร่วมกัน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มมีดีนาทับมี ที่ถือเป็นจุดแข็งของกลุ่ม นั่นคือ การให้โอกาส การสร้างโอกาส และการไม่ละทิ้งความมุ่งมั่นตั้งใจ ความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ที่จะทำให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับลูกหลานคนนาทับ ซึ่งผ้าบาติกแต่ละผืนนั้น ผู้ผลิตต้องมีความเพียรและเข้าใจในการลงลาย ต้องมีศิลปะ งานศิลปะบนผืนผ้าบาติกไม่มี pattern เด็ก ๆ ทุกคน เขาทำจากสิ่งที่เขามีพรสวรรค์ และพรแสวงที่ได้จากครูจันทิมา และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ จิตวิญญาณความเป็นครูของคุณครูจันทิมา ที่ได้ชักชวนให้เด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีความหลากหลายทางด้านรายได้ บางครอบครัวมีฐานะยากจน ที่ปัจจุบันมีจำนวน 11 คน ได้มาทำให้เขามีความสนใจงานศิลปะ สนใจต้นไม้ ใบไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุอุปกรณ์ที่ทำลวดลาย การเขียนเทียน การลงสี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เขาสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ในการจุนเจือครอบครัว และไม่ไปยุ่งเรื่องไม่ดี อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

คุณครูจันทิมา สุขเมตตา เล่าว่า กลุ่มผ้ามีดีนาทับ เกิดจากแรงบันดาลใจและแนวคิดที่ว่า "บ้านเรามีดี" เราเป็นเมือง 4 ชาย คือ ชายเล ชายคลอง ชายควน (เขา) และชายนา ซึ่งอยากให้คนทั่วไปได้มาชมความงดงามทางธรรมชาติ และเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านผลงานศิลปะบนผืนผ้า จึงได้ริเริ่มการทำผ้ามัดย้อมบาติก ด้วยสิ่งที่มีในตัวเอง คือ "ความรู้ทางศิลปะ" ที่ชอบและได้มุ่งมั่นตั้งใจร่ำเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท โดยมีต้นทุนเริ่มต้นจากมรดกสุดท้ายที่ได้รับจากการสูญเสียคุณแม่และคุณพ่อจากผลกระทบเหตุสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ เงินเยียวยาจำนวน 85,000 บาท ด้วยการตั้งปณิธานว่า ต้องการใช้เงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบแทนบุญคุณของท่านที่ให้ชีวิตมา

คุณครูจันทิมา ฯ กล่าวต่ออีกว่า "กลุ่มมีดีนาทับ" ได้จดทะเบียน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในนาม "ME-D นาทับ" เมื่อเดือนมีนาคม 2560 พร้อมทั้งได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาว เสื้อมัดย้อม ผ้าชิ้น ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ประจำปี พ.ศ. 2562 และด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และโครงการพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ทางกลุ่มมีดีนาทับ ได้น้อมนำมาปรับสร้างสรรค์ให้เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มโดยใช้วิธีการทำผ้าบาติกสีธรรมชาติจาก "ใบคนทีสอทะเล" ที่มีอยู่ในพื้นถิ่นแถบชายทะเล โดยได้คิดค้นนวัตกรรมด้วยการนำมาทดลองทำสีย้อมผ้าและพัฒนามาเป็น "ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากใบคนทีสอทะเล" โดยนำเอาส่วนใบมาบด และนำไปต้มด้วยความร้อนพอประมาณใช้เวลา 4-8 ชั่วโมงในการสกัดสี แล้วนำไประบายบนผ้าบาติก และใช้ตัวจับสี คือ น้ำปูนใส น้ำโคลน น้ำสนิม จะได้สีโทน เขียวขี้ม้า เทา ดำ มีการผสมผสานงานพิมพ์ไม้ พิมพ์โลหะ ทับซ้อนหลายชั้น และเทคนิคแคร๊กเทียน เพื่อรูปแบบงานแปลกใหม่ ดูทันสมัย ใช้ทักษะภูมิปัญญางานผ้าบาติกท้องถิ่น พัฒนาฝีมือ และถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น" ทั้งนี้ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ทำให้ความความตั้งใจที่เกิดจาก Passion ของตนนั้นประสบความสำเร็จลุล่วงกว่าที่คาดคิด แต่สิ่งที่ได้มากสุด คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับลูกหลานเด็ก เยาวชนในชุมชน ให้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข และยังทำให้ผู้สูงอายุได้มีงานมีรายได้ รวมทั้งตัวเองประกอบอาชีพหลักเป็นครู ก็ได้เอาพื้นฐานไปสอนเด็กนักเรียนได้ และที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดแนวคิดดี ๆ นี้ไปสู่รุ่นลูก คือ นายธณกร สุขเมตตา ที่ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยการเป็นครูอาสาที่โรงเรียนบ้านท่าคลอง ควบคู่กับการมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้เทคนิค วิธีการ องค์ความรู้การทำผ้าบาติก เป็นพี่สอนน้อง ๆ สมาชิกในชุมชน รวมถึงถ่ายทอดให้กับผู้บริหารโรงเรียน กระทั่งโรงเรียนได้บรรจุวิชาบาติกเป็นวิชาพื้นฐานในหลักสูตรของโรงเรียนด้วย" คุณครูจันทิมา ฯ กล่าวเน้นย้ำ

คุณครูจันทิมา ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่กลุ่มมีดีนาทับ ได้นำมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้กับสมาชิก นั่นคือ Passion ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความปรารถนาดีต่อลูกหลานในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต ได้ใช้คุณค่าและจิตวิญญาณ พรสวรรค์ ที่มีอยู่ในตัวของเด็กทุกคน ถ่ายทอดผสมผสานกับพรแสวง แบ่งความรับผิดชอบของสมาชิก 11 คน และถ่ายทอดหน้าที่ความรับผิดชอบของกันและกัน ทำงานและใช้ชีวิตกันแบบพี่น้อง พี่สอนน้อง น้องช่วยพี่ ทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดี โดยมี ลุงจูแห อดีตสมาชิกสภาเทศบาล คอยปลูกผักรดน้ำต้นไม้ แปลงพืชผักสวนครัวภายในกลุ่ม เพื่อให้มีผักไว้บริโภค และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านภายในชุมชน โดยเรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้พื้นที่กลุ่มมีดีนาทับ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้าบาติก ควบคู่การเป็นพื้นที่เรียนรู้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนในชีวิตของลูกหลานคนนาทับ ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงาน มีเงินรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ตั้งใจยังผลทำให้ตัวของเขาและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้านนายธณกร สุขเมตตา เล่าในช่วงท้ายว่า น้อง ๆ ทุกคนมีรายได้ ขึ้นอยู่กับระดับคุณภาพงาน Skills ถ้าสร้างสรรค์มากได้มาก ส่วนรายได้ของแต่ละคนเมื่อได้รับแล้ว บางคนแบ่งไปเลี้ยงดูพ่อแม่70 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 30 บางคนอายุ 17 ปี สะสมทองเก็บเล็กผสมน้อยจนได้ทอง 1 บาท บางคนเป็นเสาหลักหารายได้จุนเจือครอบครัว และด้วยพระกรุณาธิคุณ ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มมีดีนาทับ ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท กลายเป็นเดือนละกว่า 200,000 บาท ซึ่งเราภูมิใจที่ได้ทำให้เกิดอาชีพ เกิดรายได้ ด้วยสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนของเรา ทำให้เด็กและเยาวชน ได้ร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตชิ้นงาน ซึ่งเราจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อทำให้น้อง ๆ ทุกคน คนนาทับทุกคน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ "กลุ่มมีดีนาทับ" ผ่าน Facebook : Me-D Brand แบรนด์มีดี และมีดีนาทับ มัดย้อมบาติกเพ้นท์ ได้ทุกวัน

กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 19 พ.ค. 2566