กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อาคารเอส. พี. เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร - กสศ. ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD พร้อมด้วยหน่วยงานภายในของ OKMD ได้แก่ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) จัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ มุ่งสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มของ OKMD ให้เด็กเยาวชนยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล หรือผู้พิการ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า “การร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นความมุ่งมั่นของทั้งสองหน่วยงานที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรม และให้บริการความรู้ ยังเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม” “โดย OKMD ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็ก เยาวชนยากจน ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของ กสศ. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค รวมทั้งพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการองค์ความรู้ของ กสศ. ให้อยู่ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ที่เข้าใจและเข้าถึงง่ายเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย รวมถึงร่วมศึกษาวิจัย และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ตลอดจนครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเข้าร่วมและนำเอาทักษะความรู้ในสาขาต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อยกระดับศักยภาพการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาของคนไทยอีกด้วย” ดร.ทวารัฐ กล่าวถึงการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปว่า “กสศ. และ OKMD จะร่วมกันคัดเลือกองค์ความรู้จากผลงานการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนของ กสศ. มาพัฒนาเป็นสื่อความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย น่าสนใจ เข้าใจง่าย ทั้งในรูปแบบหนังสือ คู่มือ คลิปวีดีโอ พอดแคสต์ และออดิโอบุ๊ค เพื่อเผยแพร่ผ่านกิจกรรมและช่องทางต่างๆ ของ OKMD เครือข่ายออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงช่องทางสื่ออื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ รักการเรียนรู้ สนใจใฝ่รู้ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตต่อไป” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า นโยบาย ในการนำการศึกษา การเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อย่างยั่งยืน “ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเสมอภาคในมิติของการเรียนรู้ ผ่านการศึกษาแบบเปิด ที่มีความยืดหยุ่น เชื่อมโยงให้ทุกกลุ่มคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กยากจนด้อยโอกาส ที่อยู่ห่างไกล หรือ ผู้พิการ สามารถเข้าถึง ทรัพยากรและโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ทุกที่ทุกเวลา เอื้อให้เกิดการค้นพบตัวเอง และเสริมสร้าง ศักยภาพการเรียนรู้ตามความถนัดหรือความสนใจ ผ่านแพลตฟอร์มของ OKMD ที่มีความหลากหลาย ทั้งในรูปแบบพื้นที่เรียนรู้ระดับชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ และพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ และเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น OKMD Knowledge portal รวมทั้ง Museum Siam และTK park ที่สามารถขยายการให้บริการในลักษณะ Mobile Learning ที่มี กสศ.เป็นผู้ชี้เป้า กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จากครัวเรือนยากจน ด้อยโอกาส พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร กลุ่มเปราะบางทางสังคมและปัญหาเฉพาะ เช่น กลุ่มที่มีความต้องการ พิเศษหรือผู้พิการ ระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างเช่นนี้จะช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในโลกยุคใหม่ได้อีกด้วย” ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า Knowledge Platform ของ OKMD จะสามารถช่วย สนับสนุนให้ ทุกภาคส่วนสามารถนำองค์ความรู้ ฐานข้อมูล งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ กสศ.ค้นคว้าและพัฒนาขึ้นไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และการยกระดับความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มประชากร 4.32 ล้านคน ในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นได้ นอกจากนี้ยังศึกษาวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับนโยบาย กระบวนการเรียนรู้ และนวัตกรรมเทคโนโลยี การเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ให้สามารถเข้าถึง การเรียนรู้ที่ครอบคลุม (Learning Inclusion) การเรียนแบบยืดหยุ่น (Flexible Learning Approach) ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) และฟื้นฟูคุณภาพการเรียนรู้ (Learning Recovery)