สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) (องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อ) ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งมหาวิทยาลัย , โรงเรียน , องค์กรปกครองส่วRนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน มากกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลเยาวชนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อฯ” ภายใต้ชื่องานว่า “ฮอมปอย ผญาละอ่อน ฮู้ตัน ปั้นเมือง” ณ สวนสุขภาพ 100 ปี อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เพื่อร่วมสร้างสรรค์ออกแบบเมืองหรือการพัฒนาพื้นที่ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างชุมชนที่ยั่งยืนตามแนวคิดที่ว่า “เมืองสำหรับทุกคน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.” งานนี้ได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา “นายบำรุง สังข์ขาว” มาเป็นประธานในงาน โดยมี นายธวัช จรัสวรภัทร นายอำเภอเชียงคำ และ ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. พร้อมด้วย นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ให้การต้อนรับ งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองที่เท่าทันสื่อฯ เข้าใจตนเอง เข้าใจชุมชน สามารถสื่อสารปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนและสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การทำงานด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ (MIDL) และการออกแบบเมืองของภาคส่วนต่างๆ โดยจะนำมาซึ่งการปรับประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่แนวคิดและกระบวนการการทำงานในการสร้างสรรค์เด็กเยาวชนให้เป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ และร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคนต่อสาธารณชน รวมถึงเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดพะเยา ซึ่งในงานจัดให้มีกิจกรรม “เดินเมืองเล่าเรื่องเชียงคำ” เพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่แบ่งเส้นทางการเรียนรู้เป็น 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 เส้นทางสายคาเฟ่ ที่เกิดจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาสร้างอาชีพและพัฒนาบ้านเกิด จึงได้เปิดร้านกาแฟ ที่ไม่ใช่เพื่อการค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแสดงออกซึ่งความสามารถทางดนตรีหรืองานศิลปะ เส้นทางที่ 2 คือหมู่บ้านเปื๋อยเปียง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีต้นตะแบกอายุกว่า 200 ปี ที่อนุรักษ์ไว้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม รวมถึงเส้นทางที่ 3 ที่เป็นรื่องราวของอาหารที่ “ตลาดเชียงคำ” ตลาดเก่าแก่ที่มีมายาวนานคู่เมืองเชียงคำ เป็นแหล่งรวมวัตถุดิบในการทำอาหาร และอาหารพื้นเมืองของหลากหลายชาติพันธุ์ และเส้นทางที่ 4 ก็เป็นเส้นทางเรียนรู้เรื่องอาหารพื้นถิ่นของชาวไทลื้อ ไทใหญ่ จีนยูนาน ชื่อว่า“ข้าวแรมฟืน” ที่เฮือนไตลื้อ บ้านเก่าแก่ที่คงอยู่ยาวนานมากว่า 70 ปี ของแม่แสงดา ซึ่งเป็นบ้านแนวไทลื้อหลังสุดท้ายที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ในส่วนของเส้นทางที่ 5 ที่พาไปเรียนรู้เรื่องการการผลิตผ้าพื้นเมือง ที่บ้านทุ่งมอก หมู่บ้านอุตสาหกรรมที่ยังคงมีการปั่นฝ้าย ทอผ้า การย้อมสีผ้าแบบธรรมชาติ ตามแบบฉบับไทลื้ออย่างครบวงจร โดยทั้ง 5 เส้นทางได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมของชาวเชียงคำ จังหวัดพะเยาได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ได้เดินเมืองเรียนรู้วัฒนธรรมแล้ว ก็ได้จัดให้มีเวทีนำเสนอความรู้ที่ได้จากการเดินเมือง รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กๆ ด้วย