กสศ.และภาคีเครือข่าย ‘ผ่างบการศึกษาไทย’ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำ ‘เท่ากันแต่ไม่เท่าเทียม’ ถึงเวลาปฏิรูปงบประมาณเพื่อความเสมอภาคของโรงเรียน
กสศ. และภาคีเครือข่าย ‘ผ่างบการศึกษาไทย’ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำ ‘เท่ากันแต่ไม่เท่าเทียม’
ถึงเวลาปฏิรูปงบประมาณเพื่อความเสมอภาคของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร เครือข่ายโรงเรียนปลายทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่าย เปิดวงเสวนาขบวนเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 1 หรือ Public Policy Move #1 ในหัวข้อ ‘ปฏิรูปงบแก้เหลื่อมล้ำ เพื่อเด็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล’ ณ โรงเรียนบ้านซองกาเรีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่เท่ากันทั้งประเทศ แต่กลับทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมถ่างกว้างยิ่งขึ้น
วงเสวนาเริ่มต้นจาก ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมต่อโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากรัฐใช้วิธีเหมาจ่ายแบบรายหัว กล่าวคือ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากจะได้รับงบโดยรวมเป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่เกิน 120 คน ก็จะได้รับงบประมาณที่ลดหลั่นลงไปตามสัดส่วนนักเรียน รวมถึงอุปกรณ์การเรียนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ย่อมน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
ดร.อารี ยกข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 พบว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. 29,117 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จำนวน 14,660 แห่ง หรือคิดเป็น 50.35 เปอร์เซ็นต์ และมีนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มากถึง 963,432 คน จากนักเรียนทั้งประเทศ 6.5 ล้านคน
“โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ที่ได้รับทรัพยากรน้อยกว่า แต่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ถ้าประเทศไทยสามารถปรับปรุงพัฒนาเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะส่งผลดีต่อเด็กนักเรียนทั้ง 963,432 คนด้วย”
ดร.อารี ชี้ด้วยว่า ในจำนวนเด็กนักเรียน 963,432 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา 696,721 คน (73.5 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาเป็นเด็กปฐมวัย 215,182 คน (22.7 เปอร์เซ็นต์) นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐลงทุนในโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้นจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น ช่วยให้เด็กมีพื้นฐานการเรียนที่ดีขึ้น ทั้งการอ่านออกเขียนได้ นำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้
จากการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2563 ระบุว่า นอกจากโรงเรียนขนาดเล็กโดยทั่วไปแล้ว ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (protected schools) จำนวนประมาณ 1,155 แห่ง ที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ อีกทั้งประสบปัญหาขาดแคลนครู ทำให้การเรียนรู้ของเด็กขาดความต่อเนื่อง
นายชัยศักดิ์ ภูมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกองม่องทะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำด้านอัตรากำลัง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กไม่เพียงขาดแคลนกำลังครู แต่ยังขาดเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและนักการภารโรงที่จะช่วยแบ่งเบาภารกิจของครูได้
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านกองม่องทะได้รับงบประมาณไม่มากนัก จึงต้องอาศัยการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทอดผ้าป่า หรือระดมทรัพยากรด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ทำได้เพียงครั้งคราวและไม่ยั่งยืน ฉะนั้นฝ่ายที่กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณและแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม
“เมื่อขาดตำแหน่งธุรการก็ต้องใช้ครูมาทำหน้าที่แทน เราเห็นภาพของผู้บริหารหรือครูที่ต้องทำงานไม่ตรงกับหน้าที่จนเป็นเรื่องปกติ หลายครั้งก็ต้องระดมความร่วมมือจากชุมชนเพื่อแก้ปัญหากันเอง ฉะนั้นจึงอยากส่งเสียงสะท้อนว่า เราต้องมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพคน คุณภาพสังคม ไม่ใช่มองแค่เรื่องการลงทุนและความคุ้มค่าทางตัวเลขเศรษฐกิจ”
ดร.ชัยนนท์ นิลพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 อธิบายว่า นโยบายด้านการศึกษาที่จัดสรรงบประมาณโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างเฉพาะพื้นที่ เช่น การเบิกจ่ายค่าเดินทางแบบคิดตามกิโลเมตร บางโรงเรียนอยู่บนภูเขา แม้เดินทางด้วยระยะทางเท่ากัน แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไม่เท่ากัน หรือกรณีเกิดภัยพิบัติขึ้นในโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาจะได้รับงบประมาณพร้อมกันและเท่ากันทั่งประเทศ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้ทันเหตุการณ์ และไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
นายประยูร สุธาบูรณ์ ประธานโครงการเตรียมความพร้อมพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อผลิตครูรุ่นใหม่ ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก กล่าวว่า จากที่ได้สัมผัสโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจะพบว่าทุกโรงเรียนอยู่ในสภาพคล้ายกัน คืออาคารสถานที่ไม่มีความพร้อม ต้องปรับปรุงซ่อมแซมตามงบประมาณเท่าที่มี ฉะนั้นหากจะทำให้การศึกษามีคุณภาพก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. เป็นความพยายามหนึ่งในการแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนเหล่านี้มีปัญหาเรื่องอัตรากำลังมาตลอด บางแห่งไม่มีผู้บริหารมายาวนาน ด้วยเหตุนี้เมื่อเปิดภาคเรียนแต่ละครั้งจึงต้องแก้ปัญหากันเองเฉพาะหน้า เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้ แต่อย่างไรก็ไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืน”
นายดนัยวัฒน์ มณี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางมะหัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กโดยทั่วไปจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ จึงอยากเสนอว่าควรมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยพิจารณาตามบริบทพื้นที่ ตามสภาพความเป็นจริง เพื่อตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือโรงเรียนขนาดเล็กยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รูปแบบการจัดสรรงบประมาณกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งระบบปัจจุบันคือการพิจารณารายหัว ทั้งที่จริงแล้วขนาดของปัญหาในแต่ละโรงเรียนนั้นต่างกัน โดยโรงเรียนขนาดเล็กจะมีเด็กนักเรียนยากจนมากกว่า โอกาสในการระดมทรัพยากรมีน้อยกว่า หากรัฐยังใช้วิธีจัดสรรงบประมาณแบบเท่ากัน จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
“รัฐไม่ควรจัดสรรงบประมาณแบบเดียวทั้งประเทศ ตรงไหนปัญหาเยอะ ตรงไหนมีเด็กยากจนมาก ตรงไหนที่มีปัญหาในการบริหารจัดการ อาจจะต้องหาวิธีคิดใหม่ ก็อยากจะฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องและรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยครับว่าจะมีวิธีคิดแบบไหนที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้”