กสศ. ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษาไทยด้วยแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน 4 ภูมิภาค ปักหมุดเวทีแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ รวบรวมจัดทำแผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับใหม่ สำหรับเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานของ กสศ. ในปีงบประมาณ 2568-2570 โดยเริ่มจากเวทีแรกที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ณ โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นหลายฝ่ายออกมาขับร่วมกันเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะหลังจากเคยมีโอกาสเข้าร่วมเสนอทางออกของปัญหานี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2546 ด้วยความพยายามเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการศึกษา แต่พบว่าแนวทางที่ถูกคิดขึ้นในอดีตยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กได้ด้วยเหตุผลหลายประการ สำหรับจังหวัดขอนแก่นมีความพยายามแก้ปัญหาการศึกษามานาน ขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับ กสศ. มาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล TPMAP ของจังหวัดขอนแก่น พบว่ามีสัดส่วนความยากจน 0.68% และมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมากถึง 67,030 คน มีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาจากสภาวะความยากจนที่กำลังประสบอยู่ “ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มีความตระหนักต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ จึงได้มีการดำเนินการหลายแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ และสามารถยกระดับพัฒนาตนเองได้ และยังได้ร่วมกับ กสศ. เพื่อช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กเยาวชนในหลายมิติ โดยจังหวัดขอนแก่นมีจำนวนเด็กยากจนพิเศษที่ได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 48,901 คน ครอบคลุมนักเรียนใน 26 อำเภอ ให้ไปเรียนได้ในทุกวัน โดยชุมชนที่มีแนวทางในการป้องกันเด็กยากจนเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างใกล้ชิด” รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าจังหวัดขอนแก่นยังมีเยาวชนยากจนที่ประสงค์จะเรียนต่อระดับอาชีวศึกษาหรือหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น จำนวน 196 คน โดยในจำนวนนี้ได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจาก กสศ.เรียนต่อผ่านความร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาจำนวน 5 สถาบัน และอีก 1 มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนที่เรียนดีแต่ยากจนเข้าถึงโอกาสในการยกระดับการศึกษาไปสู่การเปลี่ยนสถานะของครอบครัวได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้สร้างมิติคุณภาพการศึกษาโดยดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาครูและโรงเรียนผ่านโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) จำนวน 53 โรงเรียนใน 20 อำเภอ และทำการพัฒนาอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบผ่านทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจำนวน 353 คน เพื่อแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ยากจนและด้อยโอกาส ขณะเดียวกันยังได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น ภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือดูแลเด็กที่ประสบกับปัญหาพิเศษ เช่น ให้เด็กมีที่พึ่งพิงทั้งด้านจิตใจและด้านกายภาพ พัฒนากลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน สถาบันวิชาการ สื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคมต่าง ๆ เช่น ศึกษาธิการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด องค์กรบริหารส่วนจังหวัด เครือข่ายขอนแก่นพัฒนาเมือง จนสามารถเชื่อมโยงกลไกการทำงานช่วยเหลือให้กับเด็กทุกช่วงวัย โดยเริ่มต้นจากเด็กปฐมวัย และเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในช่วงที่ผ่านมาสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง “สิ่งที่อยากเสนอบนเวทีระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนครั้งนี้ คือทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลไม่มีเด็กนักเรียน เพราะส่วนใหญ่เลือกเข้าไปเรียนในเมือง และยังมีอีกหลายประเด็นที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างชัดเจนและน่าจะมีมาตรการให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ถนัดและเหมาะสม จนสามารถสร้างหลักประกันในชีวิตได้ โดยส่วนตัวเคยให้กำลังใจเด็กว่าแม้จะมีฐานะยากจนแต่ก็สามารถเรียนหนังสือให้เก่งได้หากได้เรียนในสิ่งที่ถนัด” นายสุเทพ กล่าว ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวกับผู้เข้าร่วมว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน โดยหามาตรการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนให้ประชาชนมีสิทธิให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ครอบคลุมถึงคุณภาพและมาตรฐานสถานศึกษา ร่วมถึงคุณภาพประสิทธิภาพครู จนสามารถเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้ แต่ กสศ. เป็นองค์กรขนาดเล็กและมีทรัพยากรจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่เหมาะสมและคมชัดให้สามารถสร้างผลกระทบในระดับประเทศได้ โดยจากการดำเนินงานในช่วงปลายปีงบประมาณ 2561 ภายใต้แผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับแรก ปี 2561-2564 ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนการทำงานเป็นแผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับที่สอง ปี 2564-2567 กสศ. ได้มองเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ด้าน คือ 1. การเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มผู้รับประโยชน์ เช่น เด็ก เยาวชน ครู โรงเรียน และชุมชน และ 2. การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยได้เหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาคุณภาพครู ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่าที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามบูรณาการและเหนี่ยวนำภาคีจากทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าของวาระความเสมอภาคทางการศึกษา และนำไปสู่การบูรณาการทรัพยากรและการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ตามหลักคิดปวงชนเพื่อการศึกษาหรือ ALL FOR EDUCATION โดยพยายามกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษาและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ อันเป็นกุญแจสำคัญในการหยุดปัญหาความยากจนข้ามชั่วรุ่น ช่วยให้สังคมไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง “แนวทางที่กล่าวมาถูกแปลงสู่การปฏิบัติด้วยแนวคิด ‘ห่วงโซ่มาตรการ’ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การกำหนดโจทย์การพัฒนาองค์ความรู้และการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีศักยภาพในการขยายผลเชิงนโยบาย 2.การนำนวัตกรรมต้นแบบไปดำเนินการนำร่องร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบกลุ่มผู้รับประโยชน์ และ 3.การสื่อสารรณรงค์ การระดมความร่วมมือ ระดมทรัพยากร และสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้แก่สังคมและผู้กำหนดนโยบาย เพื่อนำข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีไปสนับสนุนกการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน” อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในภารกิจของ กสศ. เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้เพียงแค่จากจำนวนเงินงบประมาณ หรือเงินบริจาคที่ กสศ. ได้รับ และการเบิกจ่ายให้แก่กลุ่มผู้รับประโยชน์จำนวนประมาณ 1.7 ล้านคนในแต่ละปี แต่ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ กสศ. คือความงอกงามของผลงานที่มีหน่วยงานภาคีจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของกลุ่มผู้รับประโยชน์ได้อย่างมีพลังและมีความยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับที่สอง (พ.ศ. 2564-2567) ซึ่งจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2567 ดร.ประสาร กล่าวว่าการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตรา 5 และมาตรา 23 ในพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ กสศ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุก ๆ 5 ปี เพื่อทบทวนความเหมาะสมของระเบียบที่คณะกรรมการบริหารประกาศใช้ ซึ่งอาจะมีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานตามโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา “เราจัดเวทีระดมพลังความร่วมมือขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานของ กสศ. ยังสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล สามารถความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนได้ ด้วยเหตุนี้เอง กสศ. จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นเป็นเวทีแรก และจะมีการจัดอีก 3 เวทีให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคต่อไป โดยหวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างความเสมอภาคให้ผลิดอกออกผลที่งดงามยิ่งขึ้นในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนไทยทุกคน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและก้าวข้ามความยากจนข้ามชั่วรุ่นได้จริงในอนาคต” ดร.ประสาร กล่าว ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ต้องการความคิดเห็นจากทุกฝ่ายว่าในปี พ.ศ. 2570 เยาวชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีหลายกลุ่มหลายมิติ ควรได้รับการดูแลจากเครือข่ายการทำงานร่วมกันในรูปแบบไหนได้อีกบ้าง ทำอย่างไรจึงจะสร้างการมีส่วนร่วมหาแนวทางในการพัฒนาคนที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ในระบบการศึกษา หรือในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาไปตลอดชีวิตเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง “โจทย์ก็คือทำอย่างไรจึงจะสร้างจุดคานงัดเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น กลไกหรือมาตรการที่ทำให้เกิดพลังการทำงานจากภาคีต่าง ๆ และงานวิจัยที่สามารถขยับโจทย์การทำงานที่เราเลือกนำมาดำเนินการให้เกิดความสำเร็จตามฉากทัศน์ความเสมอภาคที่เราได้วางไว้ว่า เด็กและเยาวชนจะสามารถไปถึงจุดสูงสุดของความต้องการที่อยากจะเรียนหนังสือ โดยการศึกษามีความยืดหยุ่นและเป็นทางเลือกให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ฉากทัศน์ของ กสศ. เท่านั้น แต่จะเป็นฉากทัศน์ด้านความสำเร็จในการยกระดับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศอีกด้วย” ดร.ไกรยส กล่าว