TCAS66 มีเด็กยากจน - ยากจนพิเศษ ยืนยันสิทธิ์ 21,922 คนใน 69 มหาวิทยาลัย ทปอ.
TCAS66 มีเด็กยากจน - ยากจนพิเศษ ยืนยันสิทธิ์ 21,922 คนใน 69 มหาวิทยาลัย ทปอ. เตรียมลดค่าสมัครปีหน้าเพื่อหนุนระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ด้าน อว. - กยศ. พร้อมหาแหล่งทุนดูแลช่วยเหลือจนเรียนจบ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเวทีความร่วมมือ ‘สู่เส้นทางหลักประกันการศึกษา TCAS66’ กับการพัฒนาแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผนึกพลังความร่วมมือเพื่อร่วมแก้ปัญหา ‘สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน’ ผ่านการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อจากอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เผยสถิตินักเรียนในระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนที่เคยได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนจากต้นสังกัดในระดับชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 พบว่ายืนยันสิทธิ์ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2566 จำนวน 21,922 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.46 ของนักเรียนทุนฯ จำนวน 175,977 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 69 แห่งทั่วประเทศ ปี 2566 มีนักเรียนกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษ ยืนยันสิทธิ์ TCAS เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งมี 20,018 คน เนื่องจากฐานประชากรกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากการที่ กสศ. ได้รับงบประมาณมากขึ้นในปี 2562 ที่ได้ขยายจากการทำงานร่วมกับ สพฐ. ในปี 2561 ไปยังสังกัด อปท. และ บก.ตชด. ขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนการยืนยันสิทธิ์จะพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีสัดส่วนการยืนยันสิทธิ์ลดลงจากปี 2565 ที่ร้อยละ 13.52 จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็กซึ่งสอบติดใน 69 สถาบันอุดมศึกษา มีความมั่นใจในการเรียนต่อได้อย่างตลอดรอดฝั่งร่วมกันอย่างไร
“สาเหตุที่ต้องพูดกันในหัวข้อการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าก้าวข้ามไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือก้าวจากการศึกษาภาคบังคับ ไปสู่ชั้นมัธยมปลายหรือไปถึงระดับอุดมศึกษาด้วยเห็นว่าตนเองยังขาดหลักประกันที่จะสามารถเรียนต่อไปได้จนจบการศึกษาแล้วไปสู่การมีงานทำ เด็กและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจออกจากโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือสมัครใจที่จะไม่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามรายชื่อ ของนักเรียนกลุ่มนี้ เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาและมาตรการต่างๆ ให้เป็นระบบได้ เช่น ให้โอกาสทำงานพิเศษระหว่างเรียน งานอาสาสมัคร เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียนและมีกำลังใจ ในการเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษา
ด้าน ศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ ที่ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ปีการศึกษา 2566 ร้อยละ 12.46 แสดงให้เห็นว่า ทปอ. ต้องทำให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น อุปสรรคสำคัญของเยาวชนกลุ่มนี้ คือความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยยังไม่ทราบว่าจะมีหลักประกันอย่างไรที่จะทำให้จบการศึกษาได้ และค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบก็ยังเป็นอุปสรรค ปัจจุบันระบบ TCAS ไม่เคยมี indicator ในเรื่องของคนที่ยากจนด้อยโอกาสเข้าสู่มหาวิทยาลัย จนกระทั่งมีกองทุน กสศ. ที่ทำให้ ทปอ. มี KPI ที่สำคัญ คือตัวเลขร้อยละ 12.46 ซึ่งคาดหวังว่า KPI ตัวนี้ จะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ และระบบ TCAS เอง ใช้ในการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการทำงานขั้นต่อไปมีหลายมาตราการ ที่เตรียมการไว้ เรื่องแรกคือการลดค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ
“การลดค่าใช้จ่ายน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนมองเห็นชัดเจนที่สุด ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในระบบ TCAS นักเรียนที่สมัคร 1 สาขาต้องเสียเงิน 150 บาท สมัคร 2 สาขา 200 บาท สมัคร 3 สาขา 250 บาท ไล่เรียงขึ้นไป ซึ่งในการสมัครแต่ละรอบต่อสาขาหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นดังนั้นถ้าเรามีหลักประกันให้กับนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่ม ยากจนยากจนพิเศษว่าเขาสมัครได้แน่นอน โดยมีการ waive หรือยกเลิกค่าใช้จ่าย ตอนนี้อยู่ในระหว่างหารือกัน คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้น่าจะมีข่าวดีจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในการจะช่วยยกเลิกค่าสมัคร น้องกลุ่มนี้อย่างน้อยหนึ่งลำดับสองลำดับก็จะฟรีได้ ส่วนลำดับต่อไปก็จ่ายเงินเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง เป็นต้น”
ศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อไปว่า ค่าสมัครเป็นค่าใช้จ่ายเพียงส่วนเดียวถ้าเข้ารอบสามก็จะมีเรื่องสอบ รายวิชาต่างๆ แม้ว่าตอนนี้หลายวิชามีต้นทุนสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ ทปอ. ก็ไม่มีการปรับค่าสอบมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือค่าสอบ TGAT /TPAT ค่าสอบรายวิชา A level ต่างๆ แปรผันตามจำนวนที่นักเรียนต้องเลือก ในอนาคต ทปอ. อาจจะมีกระบวนการในการช่วยลด ค่าสมัครสอบได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบ TCAS เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้นักเรียนกลุ่มนี้
สอดคล้องกับ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การวางเส้นทางดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ซึ่งเป็นเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสที่สุด ให้สามารถก้าวผ่านระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่มหาวิทยาลัย ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างระบบที่ไร้รอยต่อ ด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่ตนถนัดสามารถดำรงตนได้อย่างสมบูรณ์
“ข้อมูลจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่างชี้ให้เห็นว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีโอกาสมีรายได้เฉลี่ยราว 23,000 ถึง 27,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงสองเท่า ดังนั้นสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาคที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ไม่มากเท่ากลุ่มอื่น การจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงถือว่าเป็น ‘ก้าวใหญ่’ (Giant Step) ที่จะช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนของเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้”
ศ.ดร.ศุภชัย ระบุว่า อัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของประเทศใน การพัฒนากำลังคนผลที่ตามมาคือการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขาดแคลน แรงงานอันเป็นผลจากการก้าวสู่ภาวะสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ หรือ Aged society ซึ่งสะท้อนจากแนวโน้มการลดลงของจำนวนนักศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ลดลงกว่า 120,000 คน หรือลดลงร้อยละ 25 จากปี 2555 จนถึงปี 2565 หากประเทศยังต้องสูญเสียโอกาสในการผลักดันเด็กกลุ่มดังกล่าวให้เข้าศึกษาต่อในระดับสูง ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะทวีความน่ากังวลมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่จะทำให้ สถาบันการศึกษารองรับผู้ขาดแคลนโอกาสได้ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกคือภาคเอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์ โดยเชื่อว่าถ้าพัฒนาระบบลักษณะดังกล่าวต่อไปในระยะยาวได้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้ทั้งในแง่ของจำนวนและตอบโจทย์ด้านคุณภาพการศึกษาที่พาผู้เรียนไปสู่การประกอบอาชีพได้ ส่วนการทำงานร่วมกันในอนาคต มองว่าการทำงานแบบ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่หลายหน่วยงานสามารถทำงานไปพร้อมกันถือว่าเหมาะสมกับโจทย์ปัญหาของเด็กเยาวชนที่หลากหลายและซับซ้อน
ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า กยศ. ให้หลักประกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค โดยแต่ละปี กยศ. มีฐานเงินกู้เฉลี่ยที่ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งการกู้ยืมเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ขาดแคลนทุนทรัพย์ (มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาท/ปี) 2.ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ 3.ศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน 4.ศึกษาในระดับปริญญาโท และยังเปิดโอกาสให้กู้ยืมในลักษณะอื่น ๆ ตามความเหมาะสม โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 และมีอัตราเบี้ยปรับร้อยละ 0.5 เปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี และด้วยบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนไป กยศ. จึงเพิ่มรูปแบบการให้กู้ยืมเพื่อการเรียนหลักสูตรระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘พัฒนาทุนมนุษย์’ โดย กยศ. มีนโยบาย ‘ลดหนี้’ ให้แก่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ (s-curve) โดยจะลดหนี้กู้ยืมร้อยละ 30 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.5 ส่วนในการเรียนสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาจะลดหนี้เมื่อจบการศึกษาที่ร้อยละ 50
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์จากภาคบังคับสู่ระดับอุดมศึกษา เมื่อปี 2564 ระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษา ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้ามาร่วมสนับสนุนคณะทำงานซึ่งมีการเชื่อมโยงฐาน ข้อมูลระบบคัดกรองนักเรียนยากจนจาก กสศ. ให้ได้รับการสนับสนุนการศึกษาที่ต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา