sacit ดันงานคราฟท์จากภูมิปัญญาไทยสู่เวทีโลก พร้อมจัดงาน " Crafts Bangkok 2023 "
กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit พร้อมแล้วที่จะจัดงาน " Crafts Bangkok 2023 " งานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี 5 วันเต็ม ตอบสนองคนรักงานคราฟต์ ภายใต้แนวคิด “Creative Innovation Green”ต่อยอดอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก คาดเม็ดเงินสะพัดตลอดการจัดงานกว่า 100 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้างานศิลปหัตถกรรมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น จึงมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จัดงาน Crafts Bangkok ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของการจัดงานได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 614.62 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit พร้อมแล้วที่จะจัดงาน " Crafts Bangkok 2023 " งานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความแข็งแกร่งให้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายและตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลกและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่การขายตลาดส่งออกงานหัตถกรรมไทย สอดรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัย เป็นการแสดงพลังแห่งความมุ่งมั่นของการพัฒนา ต่อยอด จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่วงการศิลปหัตถกรรมไทย
การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายสินค้าในงานแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม แก่ผู้ที่มีความสนใจด้านงานอาร์ต งานหัตถศิลป์ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะ เรียนรู้เทคนิค วิธีการทำงาน จาก ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิกของ สศท. รวมถึงศิลปินจากต่างประเทศที่ร่วมนำผลงานมาจัดแสดงทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่สหรัฐอเมริกา อิตาลี่ ญี่ปุ่น อาเซียน อาทิ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และภูฎาน โดยแต่ละประเทศได้นำผลงาน highlight มาจัดแสดงในงาน Crafts Bangkok 2023 เป็นที่แรกเช่น บิงกะตะ กิมิโน ซึ่งเป็นเทคนิคการย้อมทอมือและระบายสีที่มีประวัติยาวนานกว่า 15 ศตวรรษ โดย Mr. Eiichi Shiroma จากญี่ปุ่น ผลงานจากศิลปินในภูมิภาคอาเซียนโดยสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน(AHPADA) อินโดนีเซีย (ASEPHI) ฟิลิปินส์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่รังสรรค์จากเส้นใยธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ภาพวาดจากศิลปินชาวอิตาเลียน Ms. ARIANNA CAROLI ซึ่งเป็นศิลปินที่ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลกและองค์กรการกุศลมากมายทั้งในและต่างประเทศโดยเทคนิคการใช้ทองคำมาวาดลงในผืนผ้า โดยภายในงานจะมีการนำชิ้นงานที่ปรับรูปแบบให้เข้ากับสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมอน ผ้าพันคอ และ กระเป๋า เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผลงานภาพวาดจาก Mr. Matthew Campbell Laurenza ศิลปินชาวสหรัฐอเมริกาที่พัฒนางานโดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการให้ความสำคัญในด้านการค้าแบบเสรีที่ให้ความเป็นธรรมและผลประโยชน์คืนสู่สังคมกระบวนการย้อมผ้าด้วยสีและวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์จากราชอาณาจักรภูฏาน นอกจากนี้ยังมีผลงานจากศิลปินชาวไทย ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายในระดับสากล อาทิ คุณ วิชชุลดาและคุณวศินบุรี ซึ่งเป็นผลงานจากเศษวัสดุเหลือใช้รวมถึงผลงานที่พัฒนาจากวัสดุธรรมชาติและกระบวนการย้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคุณมนัทพงศ์ คุณปราชญ์ คุณปิลันธน์และคุณวาสนา
เพื่อนำคำแนะนำต่างๆ ไปพัฒนาศักยภาพ พัฒนาสินค้าของตนเอง ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดการจัดงานตลอด 5 วัน จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาทอย่างแน่นอน
งาน " Crafts Bangkok 2023 " จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 98-99 ไบเทค บางนา เอาใจคนรักงานคราฟต์ที่จะได้เสพงานศิลป์จุใจ 5 วันเต็ม พบกับผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายสินค้าแฮนด์เมดนับหมื่นรายการ ในงานกว่า 400 คูหามารวมไว้ที่นี่ที่เดียว
โดยในปีนี้ จะจัดภายใต้แนวคิด “Creative Innovation Green” ต่อยอดอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลงาน Masterpiece เพื่อยกระดับภูมิปัญญาของท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก และผสมผสานกระแสความยั่งยืนของโลก ด้วยการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับ Green Economy
อนึ่ง การอนุรักษ์สืบสานคุณค่าแห่งศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งการต่อยอดงานหัตถศิลป์ในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นหรือเศรษฐกิจฐานรากอยู่ดีกินดีและประสบความสำเร็จได้นั้น จะประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1. ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการด้านหัตถกรรมไทย 2. ตลาดหรือความต้องการของผู้บริโภค และ 3. สินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ บทบาทที่สำคัญของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยคือ การทำให้องค์ประกอบของทั้ง 3 ส่วนผสมผสานกันอย่างลงตัว ดังนั้น การเชื่อมโยงคุณค่าทางภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีเสน่ห์เฉพาะตัวมาสู่การตลาดในเชิงพาณิชย์โดยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์จนเป็นผลงานที่มีคุณค่าและมูลค่าในทางเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคและเกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นำมาสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บนคุณค่าแห่งภูมิปัญญาจนนำไปสู่การขายตลาดส่งออกงานหัตถกรรมไทยสู่ตลาดโลกต่อไป