วันนี้ (19 ส.ค. 66) เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน จุดดำเนินการที่ 1 ภาคเหนือ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางกุสุมาลย์ พงษ์สิทธิถาวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงใหม่ นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางดวงกมล ยิ้มละมัย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ และช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ ผู้สมัครเข้าประกวด ร่วมในพิธี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" ในวันนี้ เป็นอีกครั้งที่พวกเราได้มีโอกาสมาร่วมกันเป็นสักขีพยานของความสำเร็จที่ทุกคนได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ท่านทรงมีน้ำพระทัยที่แน่วแน่ในการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกคนในที่นี้ได้ทราบถึงน้ำพระหฤทัยอยู่แก่ใจของพระองค์ท่านอยู่แล้ว และได้สนองพระดำริ "โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนมีความปลาบปลื้มปีติยินดีอยู่ในใจ ทั้งผู้ที่เป็นข้าราชการ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย ตลอดจนผู้ประกอบการผ้า และพี่น้องชาวจังหวัดภาคเหนือภายใต้การขับเคลื่อนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และพี่น้อง ผู้ประกอบการ OTOP ทุก ๆ ท่าน "นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันที่สุดมิได้ที่ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่พวกเราได้รับพระราชทานลายผ้า พระราชทาน เริ่มตั้งแต่ที่พระองค์ท่านพระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณวรีฯ ให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าได้นำไปผลิตชิ้นงานเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาด ควบคู่กับการโค้ชชิ่งให้ความรู้ การทอผ้า งานย้อมสีผ้า และผลิตภัณฑ์ลายใหม่ เป็นแนวทางที่ทำให้ผ้าไทยได้มีสีสันสดใสสวยงามมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องการเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาร่วมกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นงานที่อยู่ในสายเลือด สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษมาสู่การออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัยตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ผ่าทางตันของผ้าไทย ที่เดิมคงความคลาสสิค แต่ไม่สามารถตอบสนองลูกค้าสมัยใหม่ได้ แต่เมื่อพวกเรามีการออกแบบลวดลายให้มีสีสัน มีการตัดเย็บที่ทันสมัย ทำให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความสำเร็จที่พวกเราได้พยายามกันมาอย่างต่อเนื่อง และสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราได้รับน้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่เป็นแม่เหล็ก ทำให้เกิดแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จเป็นผลสัมฤทธิ์เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องมาจนถึง ผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" ประกอบกับหนังสือพระราชทาน ผ่านหนังสือเทรนด์ผ้าไทย THAI TEXTILES TREND BOOK ซึ่งประกอบไปด้วยแนวทางภาค 4 กลุ่ม รวมกว่า 100 รูปแบบ ซึ่งในนั้นเป็นการพยากรณ์คาดการณ์รูปแบบของเสื้อผ้าที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาลและแต่ละโอกาส ช่วยทำให้ยกระดับผลิตภัณฑ์ของศิลปาชีพ หัตถกรรม รวมถึงผู้ประกอบการผ้า OTOP ภายใต้การขับเคลื่อนของพระองค์หญิง ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นของชุมชน ทำให้เกิดผ้าลายต่าง ๆ มากมายในปัจจุบัน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"ยัง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทย ซึ่งเป็นโครงการที่พวกเราทุกคนร่วมกันขับเคลื่อน เกิดความปลื้มปีติที่ได้ทำให้ชาวบ้าน พี่น้องประชาชนคนไทยได้ลืมตาอ้าปาก สามารถมีรายได้ มีอาชีพ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทำให้ประชาชนเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งการแข่งขันของจังหวัดภาคเหนือในปี 2566 นี้ มีผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า ส่งผ้าเข้าประกวด จำนวน 1,375 ชิ้น ซึ่งมากกว่าผ้าที่เข้าประกวดในปีที่ผ่านมากว่าครึ่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนผ้าไทย ได้ปรากฏขึ้นสมดังพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการจัดประกวด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกฝนพัฒนาฝีมือในการอนุรักษ์หัตถกรรมและภูมิปัญญาผ้าไทยของคนไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้ต่อยอดพัฒนาฝีมือในการทอผ้าให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผ้าไทยที่มีความสวยสดงดงามดังที่เห็นในทุกวันนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นดั่งเป้าประสงค์ของพระองค์ที่ได้เห็นพี่น้องผู้ประกอบการผ้าได้ใส่ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผ้าไทยมีความหลากหลายมากกว่าเดิมมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ทำให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ได้มีทางเลือกในการสวมใส่ นำไปสู่การกระตุ้นให้ชาวบ้านกลุ่มทอผ้าได้รังสรรค์ผ้าลายใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้วส่งเข้าประกวดเพื่อได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยสร้างเป็น Story telling ที่จะช่วยสร้างความอยากให้กับผู้บริโภค มีความใฝ่ฝัน มีความต้องการและมีความอยากที่จะซื้อชิ้นงานเหล่านั้น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ยังพระราชทานแนวคิดเรื่องเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยมีแนวทางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขยายผลไปสู่การคิดคาร์บอนเครดิตที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชนกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต่อไปในอนาคตจะสามารถรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นแนวทางของแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) มีเครื่องนุ่งห่มที่ย้อมสีธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมี ควบคู่กับการน้อมนำเอาหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการกระตุ้นให้คนในชุมชนช่วยกันปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่เป็นวัตถุดิบที่สร้างขึ้นเองได้ เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวงจรการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย จึงขอให้พวกเราจงภาคภูมิใจว่า พวกเราได้ทำหน้าที่ในการเป็นข้าราชการ ได้ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองที่ทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังผลไปยังทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งกลไกแห่งความสำเร็จต้องอาศัยพวกเราทุกคนที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ภักดี มีอุดมการณ์ที่จะเห็นความสำเร็จเกิดขึ้น "ขอให้ทุกคนช่วยกันไปสร้างทีมภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยกสรอนุรักษ์และขับเคลื่อนให้คนในชุมชนสวมใส่ผ้าไทยที่ทำจากสีธรรมชาติ เพราะภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย จะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ และผ้าไทยจะมีความโชติช่วงชัชวาลได้ต้องอาศัยผู้นำ ซึ่งเราจะทำให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนการสวมใส่ผ้าไทย เพราะผ้าไทยทุกเซนติเมตร ทุกบาท ทุกสตางค์ที่พวกเราจ่ายไป จะไหลย้อนกลับไปสู่พี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งงานประกวดนี้เป็นอีกขั้นตอน ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ เป็นเตาหลอมเหล็กที่จะทำให้คนมีความสามารถเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีฝีมือได้มีกำลังใจและได้รับคำชื่นชมที่ได้เพียรพยายาม และสิ่งสำคัญยิ่งของการประกวด จะได้รับรางวัลพระราชทานฯ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเข้าประกวด" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ความดีงามเหล่านี้ล้วนเกิดจากความทุ่มเทของพวกเราทุกคน ขอให้พวกเราช่วยกันทำให้ความสำเร็จที่มีอยู่แล้วเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมกันขับเคลื่อนกับพี่น้องภาคีเครือข่ายอย่างเต็มที่ ในฐานะ "ผู้นำ" ที่ทุกคนสวมใส่ผ้าไทยทุกเมื่อ ทุกโอกาส ให้คนอื่นเห็นแล้วทำตาม "เป็นผู้นำที่ทำก่อน" และขอให้การประกวดในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนผ้าไทยไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" เป็นลายผ้าที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ "ลายดอกรัก" และพระราชทานเพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนคนไทยทุกคน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง สำหรับสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญา และงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน "กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน กิจกรรมที่ 2 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเปิดรับสมัครกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าทั่วประเทศ และงานหัตถกรรมส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด จำนวน 14 ประเภท และงานหัตถกรรมตามชิ้นงาน มีผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 7,345 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 6,548 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 797 ชิ้น ซึ่งแบ่งเป็นผลงานภาคเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 1,195 ผืน และประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 254 ชิ้นโดยภายหลังการประกวดในแต่ละภาคเสร็จสิ้น จะดำเนินการประกวดระดับภาค รอบคัดเลือก ในวันที่ 23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร และประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 50 ผืน เพื่อเข้าประกวดในระดับประเทศ รอบตัดสิน (Final) ต่อไป