sacit ชูศิลปหัตถกรรมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างแบรนด์ดิ้งให้ประเทศไทย ดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่จนถึงวัยเกษียณอายุ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมจุดกระแสรักคราฟต์ไทยผ่านประสบการณ์ตรงในการใช้ผ้าไทยและหัตถศิลป์ไทยออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าที่สะท้อน Soft Power ที่ทรงพลังของประเทศ นางสาวศิรินทร์ทิพย์ ศรีใหม่ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เสริมสร้างให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นแบรนด์ดิ้งของประเทศไทยโดยเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดึงเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดทางการค้า เป็นส่วนสำคัญของ Soft Power เพื่อขับเคลื่อน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" สู่ระดับโลก โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศในด้านความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าไทยมีความแตกต่าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย sacit จึงได้จัดกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “เที่ยวฟินอินผ้าไทย” ส่งเสริมให้สังคมไทยทุกเพศทุกวัย รวมทั้งชาวต่างชาติได้เข้าถึงคุณค่าของผ้าไทย เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมให้คนในสังคมได้สัมผัสและเกิดประสบการณ์ตรงในการสวมใส่ผ้าไทยและใช้งานคราฟต์ไทยในไลฟ์สไตล์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าทอของไทยในปัจจุบันได้มีการปรับรูปแบบ สีสัน ดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานให้โฉบเฉี่ยวเข้ากับยุคสมัยและตามเทรนด์แฟชั่น สะท้อนภาพลักษณ์ความมีสไตล์บ่งบอกความเป็นตัวตนในทุกการใช้ชีวิตอย่างมีเอกลักษณ์ เพราะในผ้าหนึ่งผืนนั้น สะท้อนคุณค่าที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งความละเอียดประณีตในกระบวนการผลิต และสีสันลวดลายที่มาจากธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และเป็นงานหัตถกรรมที่มีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างน่าประทับใจ โดยแคมเปญ “เที่ยวฟินอินผ้าไทย” ยังได้จัดกิจกรรมย่อยเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันใน 4 กิจกรรมคือ 1. “Gen Z มีดีให้อวด” เป็นกิจกรรมที่ sacit ชวนเยาวชนคน Gen Z ได้มีโอกาสลองสวมใส่ผ้าไทย เรียนรู้ภูมิปัญญาของผ้าทอไทยในภูมิภาคต่าง ๆ สัมผัสกับผ้าทอของไทยในหลากหลายแบบ สร้างความคุ้นเคยให้เด็ก ๆ รู้สึกใกล้ชิดและชื่นชอบผ้าไทย โดยออกไปเรียนรู้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ และที่เด็กชื่นชอบคือกางเกงมวยที่ทำจากผ้าทอไทย ซึ่งน้อง ๆ สามารถสวมใส่เดินเล่นขี่จักรยานได้อย่างคล่องตัวและน่ารัก ทั้งนี้ในกิจกรรม “Gen Z มีดีให้อวด” ยังได้ Roadshow ไปตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เนื่องจาก sacit ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ เพราะเชื่อมั่นว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสืบสานหัตถศิลป์ไทย เพราะอนาคตของงานศิลปหัตถกรรมไทยจะคงอยู่ยั่งยืนในสังคมไทยได้ ต้องอาศัยกำลังสำคัญของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้ที่รักษาอนุรักษ์ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป 2. “เลิฟเมืองไทยเลิฟไทยคราฟต์” กิจกรรมนี้ sacit ชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใส่ผ้าไทยสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมไทย อาหารไทย ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อาทิ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ สนามมวยราชดำเนิน วัดพระแก้ว และถนนข้าวสาร เป็นบรรยากาศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติประทับใจในกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก และรู้สึกทึ่งในเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าไทยใส่สบายเหมาะกับอากาศบ้านเราทำให้สามารถใส่เดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน 3. “สายแฟก็แคร์โลก” กิจกรรมส่งเสริมการใช้ผ้าไทยในแบบสโลว์แฟชั่นหรือแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน เป็นผ้าไทยที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เช่นผ้าฝ้ายเข็นมือที่มาจากต้นฝ้ายในไร่ฝ้ายออร์แกนิก นำมาย้อมสีธรรมชาติจากพืชท้องถิ่น ด้วยฝีมือคนในชุมชน ทั้งสตรีและคนชรา หรือแม้แต่ผู้พิการในหมู่บ้านต่างมีงานทำมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ได้รับค่าแรงและการปฏิบัติที่เป็นธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน 4. “วัยเกษียณก็เปรี้ยวได้” เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้สูงวัย หรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียนอายุมองเห็นคุณค่าในตัวเอง sacit จึงได้ชวนกลุ่มคนวัยเกษียณลุกขึ้นมาแปลงโฉม สร้างความมั่นใจในตัวเองด้วยการสวมใส่ผ้าไทยที่สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้อย่างลงตัว ทำให้ชีวิตวัยเกษียณกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง นอกจากกิจกรรมถูกจัดขึ้นตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานศึกษาต่าง ๆ แล้ว ยังมีการขยายผลกิจกรรมผ่านสื่อดิจิทัล โดย sacit ชวนคนรักผ้าไทยมาร่วมกิจกรรมสวมใส่ผ้าไทยออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ และถ่ายคลิปวิดีโอใส่ไอเดียสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อผ้าไทย แล้วร่วมโพสต์ลงใน Tiktok ซึ่งผู้ร่วมสนุกได้ลุ้นรับเงินรางวัลรวม 30,000 บาท ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากผู้ใช้ Tiktok เป็นจำนวนมาก ถือเป็นกลไกการสื่อสารที่ทันสมัยเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังสอดรับกับการส่งเสริมวัฒนธรรมงานศิลปหัตถกรรมไทยที่สามารถเข้าถึงทุกคน ได้อย่างรวดเร็วตรงใจ สำหรับกิจกรรม Road Show เที่ยวฟินอินผ้าไทยใจกลางเมืองในวันนี้ มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาเห็น สัมผัส สามารถสร้างประสบการณ์ตรง ร่วมชื่นชมและเกิดความรักในผ้าไทยและงานศิลปหัตถกรรมของไทย อีกทั้งยังถือเป็นกิจกรรมส่งท้ายความฮอตฮิตของผ้าไทย เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในการเสริมสร้างวัฒนธรรมงานศิลปหัตถกรรมสู่สังคมไทย มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้ผ้าไทยและสวมใส่ผ้าไทยออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างการรับรู้ ความภาคภูมิใจในมรดกทางภูมิปัญญาที่จะช่วยสนับสนุนงานคราฟต์ไทยได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยภายในงานครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย ใส่ชุดไทยถ่ายภาพ 360 องศา ทดลองทำ Workshop การทอผ้าด้วยกี่ทอผ้าขนาดกระทัดรัด เรียนรู้ภูมิปัญญา “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ที่ผลิตจากผ้าไหมของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหมฝีมือของครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2565 ของ sacit เป็นงานช่างที่มีมาแต่โบราณในเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ซึ่งถือเป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน และพลาดไม่ได้กับ “กางเกงมวยผ้าทอไทย” ซึ่งผลิตจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนผ้าทออู่ทอง และผ้าขาวม้าทอมือจากชุมชนผ้าทอเมืองเหน่อ จ.สุพรรณบุรี ฝีมือครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 ของ sacit ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย เสวนาเที่ยวฟินอินผ้าไทยกับ Friend of sacit พร้อมแขกรับเชิญสุดพิเศษ คุณอมันดา อแมนด้า เจนเซ่น หรือ ไฮดี้ มิสแกรนด์ภูเก็ต 2022 และพบกับความบันเทิงส่งท้ายกิจกรรมด้วยคอนเสิร์ต ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ ที่จะมามอบความสุขในลุคอินผ้าไทยให้ได้เพลิดเพลินกันตลอดทั้งงาน ทั้งนี้ ในทุกกิจกรรมสร้างสรรค์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สังคมไทยหันมาให้ความสนใจ รับรู้และเกิดภาพจำที่ดีต่อผ้าไทยว่าสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เกิดความรักและความภาคภูมิใจในคุณค่า ภูมิปัญญา เพิ่มความนิยมการใช้ผ้าไทยและงานศิลปหัตถกรรมไทย สวมใส่ออกไปเที่ยวกันมากขึ้น การเกิดกระแสความนิยมผ้าไทยในใจของคนทุกเพศทุกวัยนี้เอง ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ sacit เชื่อมั่นว่า กิจกรรมทั้งหมดนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเป็นเครือข่ายคนรักงานคราฟต์ไทยอย่างกว้างขวาง สู่การต่อยอดการใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่อเนื่อง สะท้อนให้เกิดพลัง Soft Power คราฟต์ไทย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดย sacit จะยังคงยึดมั่นในภารกิจสื่อสารภาพลักษณ์ที่ดีของงานศิลปหัตถกรรมไปยังสังคมไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนสามารถสร้างความเข้มแข็งอันทรงคุณค่าให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทยได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน