งานประชุมทางวิชาการ 'ข้าวยั่งยืนเพื่อชีวิตและธรรมชาติ ตอน 1'
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ TEEBAgriFood Thailand จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ 'ข้าวยั่งยืนเพื่อชีวิตและธรรมชาติ' พร้อมนำเสนอผลงานการศึกษา 'การวัดสิ่งที่สำคัญในการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน' โดยการส่งเสริมจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนงบประมาณโดย สหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 ณ โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ
มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการประเมิน เรื่องการบูรณาการคุณค่าของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในการผลิตข้าวของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมถ่ายทอดข้อค้นพบของงานวิจัยไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อให้ได้เข้าใจถึงขนาดของต้นทุนและผลประโยชน์จากการผลิตข้าว อันนำไปสู่ทางเลือกการกำหนดนโยบายต่าง ๆ รวมไปถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญอื่นๆ ซึ่งจะช่วยในการพัฒนานโยบายด้านข้าวยั่งยืนหรือ (SRP) ของประเทศไทย
นายจิรวัฒน์ รติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งอธิบายถึงความสำคัญของงานศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นพันธกิจที่ทำร่วมกัน แต่แผนงานและนโยบายต่างๆ ด้านข้าวยั่งยืน จะเป็นจริงได้ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่อยู่ในห้องประชุมนี้ 145 ท่าน จาก 50 องค์กร ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม, พืช, สัตว์, อาหาร, เกษตร, ป่าไม้, การใช้ที่ดิน, ด้านมลพิษ, สถานทูติ, ผู้ออกมาตรฐาน, กองทุน, ผู้ส่งออก, การตลาด, นักวิชาการหลายสาขา, รวมไปถึงสื่อมวลชนหลายสำนัก ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดันให้เป็นจริง
จากนั้น ดร. Salman Hussain ผู้ประสานงานด้านเศรษฐศาสตร์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (TEEB) และหัวหน้าหน่วยเศรษฐศาสตร์แห่งธรรมชาติ UNEP กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ 'กระแสการผลิตทางการเกษตรที่มองเห็นและมองไม่เห็น' ชี้ให้เห็นถึงการทำงานของ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) มุ่งเน้นไปที่การจัดการกับวิกฤติโลกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะเป็นพิษ
ซึ่งแนวทางของ TEEB พยายามที่จะเน้นย้ำถึงความเร่งด่วน และความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการกับคนรุ่นปัจจุบัน ให้รับทราบถึงผลกระทบระยะยาวต่อความยั่งยืนในอนาคต จุดเน้นของโครงการนี้คือการใช้แนวทาง TEEBAgrifood โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการ บูรณาการแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพ เข้ากันได้กับบริการทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน
จากนั้น นายพิศาล พงศาพิชญ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (NIA) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ 'เกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย' แนวโน้มมาตรฐานข้าวทั่วโลก กำลังเคลื่อนตัวไปสู่ความสอดคล้องกับมาตรฐานข้าวไทย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราในการจัดการกับการผลิตข้าว ในลักษณะที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีของโลก ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มาตรฐานข้าวยั่งยืน SRP ได้ถูกกำหนดหลักเกณฑ์แล้ว เพื่อที่จะสามารถออกใบรับรองมาตรฐาน มอก. 4408-3565 และอยู่ในขั้นนำไปทดลองปฏิบัติจริง
ภาคบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อ 'ข้าวยั่งยืน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน' โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา) นางสาวเสาวนี โพธิ์รัง เกษตรกร SRP, ดร.อรรถวิทย์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการโครงการ Better Rice Initiative Asia (BRIA)II Thailand / GIZ, นายวนัส แต้ไพสิฐพงศ์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดร.วัลลภ มานะธันยา สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งประเทศไทย
ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนถึงโอกาสของข้าวยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น เช่น การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ, GIZ, ภาคเอกชน และผู้ส่งออก ทั้งในแง่ของความรู้ เครื่องจักร การเข้าถึงใบรับรอง และตลาด เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าว SRP แต่ก็มีความท้าทาย นั่นคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการผลิตข้าว SRP อย่างแท้จริง ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่อาจมีความอ่อนไหวต่อราคาข้าว การแบ่งส่วนตลาด SRP ยังไม่ชัดเจนหรือไม่เฉพาะเจาะจง ทั้งพื้นที่และการแปรรูป ที่ยังคงไปรวมอยู่กับข้าวทั่วไป และการส่งออกข้าว จำเป็นต้องมีการรับรอง SRP ระดับโลก ซึ่งมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงและไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับเกษตรกร
ในส่วนของ การนำเสนอข้อค้นพบ : การวัดสิ่งที่สำคัญในการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนโดย รศ.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ติดตามได้ใน 'ข้าวยั่งยืนเพื่อชีวิตและธรรมชาติ ตอน 2'