Gaslighting ผิดจริงหรือคิดไปเอง ? รับมืออย่างไรเมื่อกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ?

          เคยไหมรู้สึกผิด ทั้งที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ เอาแต่โทษตัวเองว่าดีไม่พอ อดทนไม่พอ หรือคิดมากเกินไป ทำอะไรก็ผิดจนความมั่นใจหายหมด กลายเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ที่ถูกบงการและควบคุมจากอีกฝ่าย แน่นอนว่าคนเหล่านี้มักไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่เรียกว่า "Gaslighting" ไม่ได้เกิดในเวลาอันสั้น แต่สั่งสมเป็นเวลานาน จากการโดนปลูกฝังชุดข้อมูลเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเหยื่อเกิดความสับสนและเริ่มสงสัยว่า หรือเราจะเป็นฝ่ายผิดจริง ๆ

          หลายคนอาจสงสัยว่าคนเราจะถูกควบคุมจิตใจได้ง่ายขนาดนั้นจริงหรือ ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของคำว่า Gaslighting ซึ่งมาจากบทละครเรื่อง Gas Light โดยแพทริค แฮมิลตัน ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1944 เนื้อเรื่องกล่าวถึงสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่สามีมีนิสัยเจ้าเล่ห์ อยากได้สมบัติของภรรยา จึงพยายามทำให้เธอเสียสติเพื่อขโมยของมีค่าเหล่านั้น โดยการหรี่ตะเกียงในบ้านลงเล็กน้อย ภรรยาเกิดความสงสัยและถามสามีว่าตะเกียงมันมืดลงหรือเปล่า ? สามีปฏิเสธและตอบภรรยาว่าเธอคิดไปเอง เขาทำแบบนั้นซ้ำ ๆ ทุกวัน จนภรรยาเกิดความสับสน และเสียสติในที่สุด จะเห็นได้ว่าการ Gaslighting หรือการปั่นหัวนั้นแทบไม่ต้องใช้คำหยาบคาย หรืออารมณ์ที่รุนแรงแม้แต่น้อย นั่นจึงกลายเป็นกับดักที่ทำให้เหยื่อหลงเชื่อคำพูดเหล่านี้ไปโดยปริยาย แม้จะรู้สึกขัดแย้งอยู่ลึก ๆ หรือจะมีหลักฐานให้เห็นอยู่ตรงหน้าก็ตาม ท้ายที่สุดเหยื่อจึงถูกควบคุมโดยสมบูรณ์แบบ และสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองจนหมดสิ้น

          ความสัมพันธ์ลักษณะนี้สามารถพบเจอได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนรัก เจ้านายลูกน้อง ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ เหนือกว่า และสามารถควบคุมอีกฝ่ายได้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ โดยการทำให้อีกฝ่ายสับสนและสงสัยกับความเป็นจริง หรือความคิดของตัวเอง ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น 

  • โกหกหลอกหลวง ปิดบังความผิดของตัวเอง เช่น ฉันไม่ได้ทำ เธอคิดไปเองหรือเปล่า ?
  • โยนความผิดให้อีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นแพะรับบาป เช่น เธอนั่นแหละเป็นสาเหตุให้ฉันต้องทำแบบนี้, เพราะเธอเป็นแบบนี้ เราถึงต้องมาทะเลาะกัน
  • บีบบังคับขู่เข็ญ ทั้งการบังคับทางตรงโดยใช้ความรุนแรง และการบังคับทางอ้อม ด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น เช่น ที่ทำไปเพราะเป็นห่วงนะ
  • โน้มน้าวให้สับสน เช่น เธอคิดไปเองทั้งนั้น, ไม่ได้มีอะไรสักหน่อย, เธอจำผิดหรือเปล่า

          แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางคนก็ไม่ได้ถูกกระทำ แต่กลับกระทำตัวเอง หรือที่เรียกว่า “Self-Gaslighting” เช่น เมื่อเกิดความผิดหวัง หรือทำอะไรผิดพลาด ก็จะโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองก่อน รู้สึกว่าตัวดีไม่พอ เก่งไม่พอ ไม่คู่ควรกับสิ่งดี ๆ ความมั่นใจถดถอย กลายเป็นคนเก็บกด แยกตัวออกจากสังคม และพัฒนาไปสู่โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล

รับมืออย่างไรเมื่อต้องเจอกับ "Gaslighting"

  • ตั้งสติและหยุดโทษตัวเอง วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง อย่าเชื่อหรือไหลตามคำพูดอีกฝ่ายจนเกินไป
  • เชื่อมั่นในตัวเอง รักตัวเองให้มาก มองเห็นคุณค่า และเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง
  • ทบทวนตัวเอง ทบทวนความรู้สึกเพื่อหาจุดยืนให้ตัวเอง เพิ่มความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก
  • เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่มีทัศนคติเชิงลบ หรือชอบปั่นหัวผู้อื่น การถอยออกมา จะทำให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น และแยกแยะระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกที่ถูก Gaslighting ได้ง่ายขึ้น
  • ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง อย่าปฏิเสธอารมณ์ หรือความรู้สึกของตัวเอง คนเรารู้สึกเศร้า เสียใจ ผิดหวังได้ แต่ต้องรู้เท่าทันและจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม

          สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองอยู่ในวังวน Gaslighting หรือกำลังเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร รู้สึกผิด สิ้นหวัง เป็นทุกข์ ไม่มีความสุข อย่าเก็บเรื่องหนักใจไว้คนเดียว ปลดปล่อยทุกปัญหา มาระบายได้ที่ "Alljit" พื้นที่ปลอดภัย ให้คุณเล่าทุกสิ่งที่อยู่ในใจได้ตลอด 24 ชม. โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน มีเพื่อน ๆ มากมายพร้อมรับฟัง พูดคุย และก้าวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ไปด้วยกัน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีแล้ววันนี้ทั้งระบบ iOS และ Android หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง

Facebook Fan Page : Alljit ปรึกษา พูดคุยสุขภาพจิตใจ ฟรี
Website : https://www.alljitblog.com/
Youtube : Alljit สุขภาพจิตใจ

Facebook : https://www.facebook.com/AlljitTH/
Youtube
: https://www.youtube.com/channel/UCKIEPfI9D32EnsP6oasduSg