รมว.ดีอี เร่งขับเคลื่อนโมเดลพัฒนากำลังคนดิจิทัล หนุน ดีป้า เดินหน้าโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย
กระทรวงดีอี โดย ดีป้า แถลงข่าวเปิดโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย มุ่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่พร้อมรองรับการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งอย่างยั่งยืนผ่านการยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมทักษะและสร้างความตระหนักรูแก่เยาวชน ครูผู้สอน บุคลากรการศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปผ่านหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลที่มีความพร้อมต่อการสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เครื่องยนต์ที่สามของนโยบาย The Growth Engine of Thailand
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย และพิธีประกาศความร่วมมือด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการยกระดับการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง และด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้ง ภายใต้โครงการ Coding for Better Life โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน คณะครู นักเรียน และผู้บริหารสถาบันการศึกษาร่วมในพิธี
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนดิจิทัลเฉลี่ยปีละ 100,000 คน แต่ในทางกลับกันภาคการศึกษาไทยสามารถผลิตกำลังคนกลุ่มดังกล่าวได้เฉลี่ยปีละ 25,000 คนเท่านั้น ดังนั้น กระทรวงดีอี จึงได้ออกแบบแผนงานระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ทันที และแผนงานระยะยาวที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยแผนงานระยะสั้น กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการ Global Digital Talent Visa หรือ การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวกรณีพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนแผนงานระยะยาว กระทรวงดีอี โดย ดีป้า พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกระดับ
“สำหรับโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ที่ กระทรวงดีอี โดย ดีป้า กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้นับเป็นหนึ่งโครงการในแผนงานระยะยาวที่มุ่งสร้างครูผู้สอนที่พร้อมถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งแก่นักเรียนรุ่นต่อรุ่น พร้อมกันนี้จะดำเนินการการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมรองรับการเรียนรู้ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลที่มีความพร้อมต่อการสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลในระยะยาวและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) เครื่องยนต์ที่สามของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand” รมว.ดีอี กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ผ่านโครงการต่างๆ โดยมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลของประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับปี 2566 - 2567 ดีป้า ได้รับข้อสั่งการเร่งด่วนจาก รมว.ดีอี ในการเดินหน้าเพิ่มศักยภาพทักษะด้านโค้ดดิ้งต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการจัดทำโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย โครงการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่พร้อมรองรับการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง โดยดำเนินการใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย
1. การยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง (Develop Coding Infrastructure) โดยเปิดกว้างให้โรงเรียนที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการในรูปแบบร่วมมือพัฒนา (50:50) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนในการยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง โดย ดีป้า จะสนับสนุนหลักสูตรพิเศษจากเครือข่ายพันธมิตรรวมกว่า 20 หลักสูตร พร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตร อาทิ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และอุปกรณ์ Coding & Robotics โดยตั้งเป้าดำเนินการในโรงเรียนทั่วประเทศรวม 1,500 แห่ง
2. การจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่คุณครู (Coding Coach Incubation) โดยดำเนินการพัฒนาหลักสูตรโค้ดดิ้งใน 3 ระดับ (Basic, Intermediate, Advanced) รวมกว่า 20 หลักสูตร พร้อมตั้งเป้าเสริมทักษะการสอนแก่ครูไม่น้อยกว่า 3,000 คน เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนรุ่นต่อรุ่น ซึ่งคาดว่าจะสามารถยกระดับทักษะโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนได้ไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อปี
3. การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Acceleration Through Coding Challenge) โดยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการระดมครูผู้สอนและนักเรียนร่วมเติมทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้นผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่
• Coding Bootcamp สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะโค้ดดิ้งผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานโค้ดดิ้งตลอด 2 วันเต็ม โดยตั้งเป้าครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 3,200 คน เกิดผลงานโค้ดดิ้งไม่น้อยกว่า 80 ผลงาน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินการทั้งสิ้น 8 ครั้งทั่วประเทศ
• Coding War เวทีการแข่งขันโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบกับการรวมทีมของครูและนักเรียนที่จะมาร่วมระดมความคิด สร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวสู่การเป็นสุดยอดทีมโค้ดดิ้ง โดยเปิดโอกาสให้ทุกสถาบันการศึกษาสามารถส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันเพื่อชิงตั๋วเข้าร่วมแข่งขันโค้ดดิ้งระดับนานาชาติ ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท คาดมีผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่น้อยกว่า 100 ทีม รวมกว่า 400 คน และเกิดสุดยอดผลงานโค้ดดิ้งไม่น้อยกว่า 10 ผลงาน
4. การสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป (Awareness Coding Thailand) เพื่อต่อยอดการนำความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งมาใช้ในบริบทต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม การดำเนินธุรกิจ ฯลฯ พร้อมเปิดโอกาสผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง โดยดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
• Coding Road Show กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งผ่านการนำเสนอผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่สร้างสรรค์ มีการจำลองการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับประชาชนที่สนใจ ซึ่งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Online และ On Ground โดยจะดำเนินการทั้งสิ้น 8 ครั้งทั่วประเทศ
• Coding for Specialist การจัดทำหลักสูตรเฉพาะทางเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้จริงในบริบทต่างๆ อาทิ Coding Empower for Startups Coding for Fun สนุกคิด พิชิตโค้ด Coding ด้วยปัญญาประดิษฐ์ Coding for Smart City Data Officers (SCDO) ร่วมขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล ถอดรหัสโค้ดดิ้งสู่เกษตรอัจฉริยะ เสวนาออนไลน์ Coding for Better Life ยกระดับทักษะด้าน Coding, AI และทักษะเกี่ยวเนื่องสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และ Coding ด้วยนวัตกรรม Low-Code/No-Code เพื่อการจัดการองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ
• Coding on DLTV ปรับปรุงและพัฒนา 3 หลักสูตรเพื่อเผยแพร่ผ่านเครือข่ายมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านโค้ดดิ้ง
“กระทรวงดีอี โดย ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย จะผลิตกำลังคนดิจิทัลที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อีกทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลที่มีความพร้อมต่อการสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ สอดรับเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลตามเครื่องยนต์ที่สามของ The Growth Engine of Thailand” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ได้ที่ www.depa.or.th, www.codingthailand.org และเพจเฟซบุ๊ก depa Thailand และ CodingThailand by depa