คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ TEEB Agri Food Thailand จัดทำโครงการศึกษาวิจัย 'ข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ' โดยศึกษาแนวทางการเปลี่ยนไปสู่ วิธีปฏิบัติการผลิตข้าวที่ยั่งยืน เพื่อฉายภาพให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย มองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเก็ดขึ้นกับทั้งชาวนา ผู้บริโภค สังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมของโลก พื้นที่งานวิจัย ครอบคลุมนาข้าวทั้งภาคกลางและภาคอีสาน โดยใช้ฐานข้อมูล การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ จากข้าวดั้งเดิมเป็นข้าวยั่งยืน หรือโครงการ GAP ของรัฐบาล ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 % ต่อปี พร้อมกับสร้างฉากทัศน์ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใน 28 ปี (พ.ศ.2564-2593) ทั้งแบบปานกลางเพิ่มขึ้น 17 % แบบขยายเพิ่ม 46 % และแบบปรับเปลี่ยน เพิ่มขึ้น 80 % ของพื้นที่นาข้าวทั่วประเทศ โดยกระบวนการวิจัยใช้กรอบการวัดทุน 4 ด้านของ TEEB Agri Food ทั้งด้านทุนธรรมชาติ ทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ และทุนทางสังคม ได้ข้อค้นพบ ดังนี้ 1.ทุนธรรมชาติ การปลดปล่อย Green House Gas จากการเผานั้น ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่นาข้าวยั่งยืน จึงช่วยลดก๊าซพิษมากกว่าร้อยล้านตันคาร์บอน จากทั้ง 2 ภูมิภาค เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่นาข้าวยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ค้นพบการกักเก็บคาร์บอนในดินที่สูงขึ้นจากการไถกลบตอซัง ในส่วนภาคกลาง มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนที่น้อยกว่า เนื่องจากสามารถทำนาเปียกสลับแห้งได้ เพราะมีพื้นที่นาในเขตชลประทานค่อนข้างมาก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัดจากโครงสร้างแมลงในนาข้าวยั่งยืน พบการขยายพื้นที่นาข้าวยั่งยืน นำไปสู่ความสมบูรณ์ของโครงสร้างแมลงในนาข้าวมากกว่านาข้าวทั่วไป ทำให้ระบบธรรมชาติในการควบคุมกันเองได้ดีกว่า ส่งผลให้การใช้ยาฆ่าแมลงลดลง ต้นไม้ในนาข้าว พบว่านาข้าวยั่งยืนจากทั้ง 2 ภูมิภาค มีความหนาแน่นของต้นไม้มากกว่านาข้าวทั่วไป และมีความหนาแน่นของไม้พื้นเมืองมากกว่าอีกด้วย ส่วนเรื่องการใช้น้ำพบว่า ประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน หรือ Blue Water ไม่ต่างกันระหว่างการปลูกข้าว 2 แบบ แต่คุณภาพของน้ำ หรือ Grey Water ในการผลิตข้าวยั่งยืนในภาคอีสาน จะดีกว่าข้าวทั่วไป ส่วนภาคกลางนั้น คุณภาพของน้ำไม่แตกต่างกัน 2.ทุนมนุษย์ วัดต้นทุนการดูแลสุขภาพ เมื่อพื้นที่นาข้าวยั่งยืนเพิ่มขึ้น ฝุ่น PM2.5 หายไป ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ผลประโยชน์จากการไม่ต้องหยุดงาน ของทั้งชาวนาและผู้คนอื่นๆ จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าภาคอีสาน ในส่วนของชาวนาเอง ยังเกิดผลประโยชน์การลดต้นทุน จากการลดความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงอีกด้วย 3.ทุนเศรษฐกิจ วัดผลผลิตและต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งการศึกษาพบว่า พื้นที่นาข้าวยั่งยืนในภาคอีสาน จะให้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นเกือบ 100 % สำหรับภาคกลางผลผลิตนาข้าวยั่งยืนสูงขึ้นเช่นกันแต่ในปริมาณที่น้อยกว่าภาคอีสาน ขณะเดียวกัน การทำนายั่งยืนต้นทุนผลิตจะลดลง เนื่องจากใช้ปุ๋ยถูกสูตรปริมาณการใช้ลดลง และใช้ยาฆ่าแมลงลดลง ดังนั้น เมื่อผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลดลง กำไรจึงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 4.ทุนทางสังคม ดูเรื่องความร่วมมือพฤติกรรมในสังคมและเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งชาวนาข้าวยั่งยืนมีความเสียสละเพื่อกลุ่ม มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันจึงมีความสุขมากกว่าชาวนาที่ทำนาแบบทั่วไป สรุปภาพผลประโยชน์สุทธิที่เกิดขึ้น ถ้าพื้นที้นาข้าวยั่งยืนเพิ่มขึ้น ผลประโยชน์จากการขยายพื้นที่ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งภาคอีสานจะชัดเจนในมิติทางเศรษฐกิจ จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและต้นทุนที่ลดลง ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของมิติด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับภาคกลาง ผลผลิตจะเพิ่มไม่มาก เนื่องจากข้าวดั้งเดิมมีผลผลิตสูงอยู่แล้ว แต่จะเกิดผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเป็นผลประโยชน์หลักที่สังคมส่วนรวมจะได้รับ อย่างไรก็ตาม นโยบายข้าวยั่งยืนของภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนจากข้าวดั้งเดิมเป็นข้าวยั่งยืน หรือ SRP เกษตรกรไม่สามารถเผชิญความเสี่ยงได้ รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกการสนับสนุนแบบชั่วคราว เพื่อการปรับเปลี่ยน และต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ปี เพื่อให้เห็นผลชัดเจนว่า 'ผลผลิตเพิ่มขึ้นต้นทุนลดลง' รัฐจำเป็นต้องเข้ามาหนุนช่องว่าง ถ้าราคาข้าวยั่งยืนต่ำเกินไป พร้อมกันนั้น ต้องสร้างเกษตรกรต้นแบบควบคู่กันไป รวมถึงต้องสร้างการรับรู้ที่ชัดเจน ให้แก่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่คนปลูก คนกิน จนถึงคนทำตลาด ให้ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการผลิตแบบยั่งยืน ที่กำลังจะเป็นตัวแปรหลัก กำหนดทิศทางคุณภาพของอาหารซึ่งไม่ได้แค่สร้างเศรษฐกิจ หรือบำรุงร่างกายเพียงแค่นั้น แต่ต้องเป็นอาหาร ที่ผลิตขึ้นอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับโลกของเราด้วย นั่นเอง