รวมพลคนรักษ์โลกผ่านกิจกรรม Now It’s My Turn #GEN1 ในแนวคิด “ตลอดมาโลกดูแลเรา ถึงเวลาหรือยังที่เราจะดูแลโลก?”
กิจกรรม Now It’s My Turn ครั้งที่1 สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. จัดกิจกรรมขึ้น ณ โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตำแหน่ง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นประธานในการเปิดงาน โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ โครงการ Now It’s Your Turn เริ่ม - เปลี่ยน – อนาคต ดำเนินการโดยบริษัท แอทโมสฟ์ ดิจิทัล โซลชั่นส์ จำกัด ด้วยแนวคิด “ตลอดมาโลกดูแลเรา ถึงเวลาหรือยังที่เราจะดูแลโลก?”
โดยโครงการ Now It’s Your Turn เริ่ม - เปลี่ยน - อนาคต ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการผ่าน 4ส. คือ “สร้าง” การเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงที่มา และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, “สื่อสาร”ให้สังคมเข้าใจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด และนวัตกรรมด้านพลังงาน, “สนับสนุน” มุมมองแนวคิดที่ดีเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เพื่อเป็นทางรอดให้กับโลก ตามแนวทางประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด, “ส่งเสริม” ให้เกิดการรับรู้และตระหนัก เป็นจุดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในสังคม เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลก เพื่อความร่วมมือในการสร้างโลกที่ดีขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเร่งรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภายใต้นโยบาย 4D1E ผ่านแคมเปญ และคอนเทนต์ที่น่าสนใจไปพร้อมๆ กับการขยายผลผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มาช่วยเป็นกระบอกเสียง จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “Now It’s My Turn #Gen1” ในครั้งนี้
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ปัจจุบัน เรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ภาคพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้า การอุตสาหกรรม และการคมนาคม ต่างเป็นสัดส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงร้อยละ 70 ดังจะเห็นได้จากปัญหาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสนับจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นในตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินี้มันส่งผลอย่างมากต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องความแห้งแล้ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และต่อพวกเราทุก ๆ ท่าน และจากสถานการณ์ในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงไปถึง 1.5 องศา ซึ่งจะนำไปสู่ภัยพิบัติอีกมากมาย พวกเราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ต้องเผชิญกับปัญหาโลกเดือด อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ด้วยความตระหนักนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. จึงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่า ดังนั้นสิ่งที่เราร่วมทําในวันนี้ จะมีผลต่อการที่เราช่วยโลกไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาในอนาคตได้หรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ต้องทําในวันนี้ครับ แต่ละคนมีบทบาทที่จะช่วยทําให้โลกนี้ไม่บอบช้้าเกินไป สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คาดหวังจากกิจกรรมในวันนี้ โดยหวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญของความเปลี่ยนแปลงครับ
ภายในงานได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชน และTikTokerจำนวนรวมกว่า 120 คน ที่มาร่วมรับฟังมาร่วมเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด ในหัวข้อ “ปัญหาโลกร้อน ภาครัฐ และภาคประชาชน มีแนวทางการรับมืออย่างไร?” โดยมีการแชร์ประสบการณ์ต่างๆของสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบันผ่านมุมมองของภาครัฐ จาก ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน “หนึ่งในตัวการสร้างปัญหาโลกร้อนมาจากก๊าซมีเทน เนื่องจากก๊าซมีเทนมีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่า จึงส่งผลต่อโลกร้อนเป็นอย่างมาก ก๊าซมีเทนเกิดจากการย่อยสลายของเศษอาหาร หรือขยะ โดยเรามักพบก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมากจากการย่อยสลายในกองภูเขาขยะ ดังนั้นการที่เราแยกขยะ เริ่มต้นง่าย ๆ ที่ การแยกขยะเปียกจำพวกพวกเศษอาหาร กับขยะแห้งจำพวกขยะที่เอาไปรีไซเคิลได้ ก็เป็นอีกวิธีหนี่งที่จะช่วยให้การนำขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น การนำขยะไปขายเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางออกในการช่วยโลก ไม่ให้ขยะเหล่านั้นไปลงเอยที่ภูเขาขยะ แล้วถูกพัด หรือปะปนลงสู่แหล่งน้ำ ลงสู่ทะเลต่อไป ดังนั้นการเริ่มแยกขยะ มองว่าสิ่งของเหล่านี้ไม่ใช่ขยะ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงได้แล้วครับ ขยะจะไม่ใช่ขยะ เมื่อเราไม่เรียกมันว่าขยะครับ“ ดร.บัณฑูร กล่าว นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังประสบการณ์ที่พบเจอในท้องทะเลในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จาก คุณณัฐนิช พานิชภักดิ์ ศิลปิน และดีไซเนอร์ - นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม เจ้าของเพจ แทนทะเล Tanntalay “ขยะที่ถูกทิ้งรวมกัน เมื่อเจอลม อากาศ ฝน ก็มักมีส่วนที่ปะปนลงสู่ท่อระบายน้ำ ไปยังลำคลอง ไปยังแม่น้ำ และสุดท้ายก็ไปยังทะเล ซึ่งขยะพลาสติกที่ปะปนอยู่ในทะเล เป็นตัวการสำคัญที่ทำร้ายทั้งสัตว์ทะเล และทำร้ายเราทุกๆคน เพราะความน่ากลัวของพลาสติกคือเมื่อมันแตก หรือสลายลงเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ หรือไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนอยู่ในทะเล เข้าสู่ร่างกายของสัตว์ แล้วมนุษย์ก็บริโภคสิ่งเหล่านี้เข้าไป เจ้าพวกไมโครพลาสติกเหล่านี้จึงปนเปื้อนอยู่ในร่างกายเรา และนั่นก็เป็นเพราะขยะที่พวกเราสร้างมันขึ้นมา นอกจากขยะชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีขยะชิ้นใหญ่ ๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสัคว์ทะเลมากมาย เช่น พยูนที่มีเศษขยะอยู่ในลำไส้ ในทะเลสัตว์เขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนอาหารอันไหนขยะ จึงทำให้เขาทานขยะเข้าไปในร่างกาย จนสุดท้ายก็เสียชีวิต หรือเต่าทะเลที่มักพบขยะเข้าไปพันตามร่างกายทำให้เกิดอันตราย และสุดท้ายก็ตายลงเช่นกัน ดังนั้น แทน จึงเริ่มหันมารักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น หันมาแยกขยะ และเก็บขยะ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เพื่ออย่างน้อยขยะที่แทนเก็บมา ก็จะไม่ถูกวนลงไปจบที่ใต้ทะเลอีก” คุณณัฐนิช กล่าว
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านยังลงมือทำ Workshop ที่รองแก้วจากขยะทะเล โดยคุณแทนทะเล เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ให้ได้เห็นมุมมองใหม่ว่าสิ่งนี้เป็นมากกว่าขยะ และสามารถนำกลับมา Reuse ใช้ซ้ำสร้างเป็นผลงานศิลปะได้ แถมยังสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหามลพิษขยะพลาสติกในทะเลได้อีกด้วย “ที่รองแก้วอันนี้มีแนวคิดมาจากสีของท้องฟ้า และสีของท้องทะเล ทุกครั้งที่ได้ใช้ ก็จะทำให้คิดถึงงานวันนี้ คิดถึงปัญหาขยะตามที่แปะไว้รอบ ๆ และจะได้เตือนตัวเองทุกครั้ง ว่าเราควรทำอะไรเพื่อโลก” TikTokerกล่าว
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจกิจกรรม Now It’s Your Turn เริ่ม-เปลี่ยน-อนาคต สามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/NowitsyourturnERC