ชวนคนกรุงร่วมทริปเช็คอิน “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” เปิดตัวนัดแรกพาไป “I'm in” กับกิจกรรม กทม.เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และโอกาส
กรุงเทพมหานคร คิกออฟกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภายใต้แนวคิด “I’m in” การมีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ไปด้วยกัน นำเสนอความสำเร็จของนโยบายในด้านต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วม ติดตามการทำงาน และให้ข้อเสนอแนะไปด้วยกัน ดีเดย์ 31 มีนาคม 67 ณ ลานจามจุรี สวนป่าเบญจกิติ และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้
จากนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของกรุงเทพมหานครที่มุ่งทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย 1) ปลอดภัยดี 2) โปร่งใสดี 3) เศรษฐกิจดี 4) เดินทางดี 5) สิ่งแวดล้อมดี 6) สุขภาพดี 7) สังคมดี 8) เรียนดี และ 9) บริหารจัดการดี โดยส่งเสริมให้ทุกคนในกรุงเทพมหานครได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง จึงเกิดกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ภายใต้แนวคิด “I'm in” หมายถึง "ฉันร่วมด้วย" เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกคนในเมืองมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างเมืองที่ดีขึ้นร่วมกัน
ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครกำลังขับเคลื่อนการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ Bangkok Learning City ในฐานะเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO กิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ครั้งแรกนี้จึงพาไป “I'm in” กับกิจกรรม “หนังสือในสวน” พร้อมรับฟังการแถลงนโยบายการผลักดัน กทม. ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเมืองแห่งโอกาสของทุกคน โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนจาก UNESCO เป็นผู้แถลงข่าว
กรุงเทพมหานครมีวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ที่มุ่งเน้นดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัย การพัฒนาการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กวัยเรียน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับวัยรุ่น-วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน (0-6 ปี) ให้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ 284,677 คน อยู่ในความดูแลของกทม. 83,264 คน จะเพิ่มอีก 20,000 คน ผ่านชั้นเรียนอนุบาลโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่ง และศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ 8 แห่ง
ในส่วนการศึกษาภาคบังคับได้พัฒนาจากห้องเรียนแบบเก่าเป็นห้องเรียนดิจิตอล (Digital Classroom) ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้เรียน มีความสนุกสนาน กระตุ้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาแบบ Active และ PBL เช่น Unplug Coding, Blockly, Scratch, Data Science, AI, Robotics และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ส่วนการพัฒนาทักษะอาชีพ กทม.ดูแลทั้งด้านการ Reskill คือการเปิดให้เรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่แตกต่างเพื่อไปสร้างอาชีพใหม่ได้ ด้านการ Upskill ด้านการเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ NEW Skill เรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
สุดท้ายที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for all, anywhere, anytime) ซึ่งไม่ได้จำกัดการเรียนรู้แค่เพียงเด็กวัยเรียนภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เยาวชน ศูนย์นันทนาการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด/บ้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สวนสาธารณะ และภายในชุมชนทุกรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตพระนคร โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมและการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม
ภายในงานยังมีกิจกรรมไฮไลท์ เช่น ผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการ #BKKBookTok การเสวนาวิธีสร้างคอนเทนต์ให้ติดเทรนด์ ช้อปหนังสือเล่มละบาทจากมูลนิธิกระจกเงา เล่นอิสระ Free play จาก เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และ Plantoys มุมนิทานสำหรับเด็ก จาก TK PARK กิจกรรมบอร์ดเกมในสวน จากสมาคมบอร์ดเกม - กิจกรรม part of life จิ๊กซอว์ถอดการเรียนรู้ จาก Fathom Bookspace นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช็อปทำหนังสือจิ๋ว กิจกรรมประดิษฐ์เรือจากกาบมะพร้าว การสาธิตการฝึกอาชีพจากโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ครั้งหน้าจะพาไป I’m in ที่ไหนสามารถติดตาม และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เพจกรุงเทพมหานคร และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของกรุงเทพมหานคร
Instagram: https://www.instagram.com/bangkok_bma
YouTube: https://youtube.com/@PRbangkok
TikTok: https://tiktok.com/@bangkok_bma
X: https://twitter.com/bangkokbma
Website: https://www.pr-bangkok.com