เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานชี้ปัญหาโรคอ้วนกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม หนุนใช้กฎหมายจัดสภาพแวดล้อมให้คนเลือกบริโภคอาหารที่ดี ชูมาตรการฉลากเตือนภัยอาหารช่วยผู้บริโภคเลี่ยงหวานมันเค็มเกินเกณฑ์ ในโอกาสวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสิรฐสม ผู้ขับเคลื่อนงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานกว่ายี่สิบปี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากประสบการณ์ที่ได้พยายามแก้ไขปัญหาเด็กบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์จนเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าในปัจจุบัน เล็งเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องใช้กฎหมายมาจัดการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพราะลำพังการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้นทำได้ยากมากในสภาพแวดล้อมที่ในตลาดเต็มไปด้วยอาหารหวานมันเค็ม และมีการทำการตลาดสื่อโฆษณาที่มุ่งเป้าเด็กโดยขาดการควบคุม เครือข่ายเด็กไทยไมกินหวานจึงร่วมสนับสนุนการออกกฎหมายที่จะควบคุมการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเพื่อหวังแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กอย่างยั่งยืน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวต่อว่า มาตรการหนึ่งที่มีประโยชน์มากในร่างกฎหมายนี้คือการให้มีฉลากเตือนภัยบนหน้าซองที่ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าอาหารหรือขนมนี้มีไขมันน้ำตาลโซเดียมสูง มีตัวอย่างจากประเทศชิลีว่า ฉลากแบบนี้ช่วยเตือนแม่ที่มีเด็กอายุ 2-14 ปี ซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเด็กอายุ 4-6 ปี และวัยรุ่น 12-14 ปี บริโภคจากน้ำตาลทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมลดลงด้วย ดังนั้น ฉลากเตือนแบบนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะพ่อแม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกและซื้ออาหาร และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ดีของคนในสังคม ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นผู้ผลิตให้หันมาผลิตอาหารที่มีไขมันน้ำตาลโซเดียมต่ำ และทำการสื่อสารส่งเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรฐานในการดูแลจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรคติดต่อของประเทศไทยเทียบได้กับระดับสากล เพราะได้ลงทุนและทำงานด้วยทุกมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยเฉพาะการให้ความรู้ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคที่ดีโดยเฉพาะเด็กในโรงเรียน แต่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมไม่เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดี พ่อแม่ในปัจจุบันให้ลูกเล่นมือถือและรับสื่อตลอดเวลา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะงานวิจัยของประเทศไทยยืนยันว่า เด็กที่พบเห็นสื่อที่มีการใช้คนดังหรือ influencer ทำการส่งเสริมการขายหรือการสนับสนุนกิจกรรมที่โรงเรียน การใช้พนักงานขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต และบรรจุภัณฑ์อาหารแสดงตัวการ์ตูน เด็กมีแนวโน้มชอบ ซื้อ และบริโภคอาหารที่ทำการตลาดมากขึ้น เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้พบเห็นการตลาดเหล่านี้ “เราทำเรื่องเหล่านี้มานานแล้วมันเป็นเหมือนการปรบมือแต่เพียงข้างเดียว เพราะกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานหรือคนทำงานด้านสุขภาพพยายามทำงานทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีปัญหาสุขภาพ เพื่อไม่ให้เด็กเป็นโรคแต่ว่าการทำงานเรื่องนี้ไม่ได้เป็นงานของหน่วยงานด้านสุขภาพเท่านั้น หน่วยงานอื่นๆก็ต้องมองว่านี่เป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพคน เพราะผลกระทบจากการมีประชากรเป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อนั้นมันส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศด้วย” ทันตแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวตอนท้าย สำหรับร่างกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารฯ ได้ผ่านการประชาพิจารณ์และอยู่ระหว่างรอการสนับสนุนจากทุกภาคีเครือข่ายให้ออกมาบังคับใช้ โดยในกฎหมายนี้จะมีมาตรการสำคัญ ๆ เช่น ควบคุมการโฆษณา ควบคุมการจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย และการใช้ฉลากโภชนาการที่ช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดี เป็นต้น