ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวกับครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งสมัครใจเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทิศทางและนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุไว้ว่า สถานศึกษามีสิทธิจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย หรือเป็นการจัดการศึกษาที่รวมหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีทางเลือกในการเรียนรู้ได้เหมาะสมเป็นรายบุคคล แก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา รองเลขาธิการ กพฐ. เผยว่า ปัจจุบัน สพฐ. ดูแลเด็กเยาวชนทุกระบบรวมกันราว 6.5 ล้านคนต่อปีผ่านการทำงานของครูราว 5 แสนคน ในโรงเรียน 3.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ การที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นเจ้าภาพเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เด็กเยาวชนวัยเรียนซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสิบล้านคน ได้เข้าสู่การศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึงผ่านการเปิดโอกาสของโรงเรียน “ในองคาพยพของคนทั่วโลก มีสามโรคที่หมุนวนเป็นวงจรของความด้อยโอกาส คือความเจ็บ ความจน และความไม่รู้ ถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมถึงจน ทำไมถึงเจ็บป่วย หรือทำไมคุณภาพชีวิตของคนยิ่งลดต่ำลงเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่จะบอกว่าเขาไม่มีความรู้เพราะเขายากจน ซึ่งในเรื่องนี้คนในกระทรวงศึกษาฯ จึงกลายเป็นจำเลยสังคม “ฉะนั้นการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่เราจะมาดูกันว่าตัวแบบของการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกและเหมาะสมกับผู้เรียน สามารถทำได้อย่างไร จากการทำงานของสถานศึกษาต้นแบบที่ทำมาก่อน โดยเฉพาะเด็กตกค้างจากระบบการศึกษา ซึ่งสถิติบอกเราว่าช่วงชั้น ม.3 เป็นรอยต่อสำคัญที่มีเด็กหลุดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งร่างกายจิตใจ ยิ่งเด็กเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่เขาสนใจ แม้จะเป็นเรื่องการแต่งรถมอเตอร์ไซค์หรือเรื่องใดก็ตาม เหล่านี้คือความรู้ คือความชอบความสนใจที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ทั้งนั้น การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะรองรับและส่งเด็กกลุ่มนี้ให้ไปต่อได้ดีขึ้น วันนี้่นอกจากการชื่นชมโรงเรียนที่เป็นต้นแบบแล้ว สพฐ. ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้มีการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ และพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้จะช่วยส่งเด็กไปถึงฝั่งให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ได้ทำงานที่ตรงกับศักยภาพ และนำองค์ความรู้มาทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเขาได้มากที่สุด “วันนี้เราจะมารับฟังและเรียนรู้ทฤษฎี ก่อนที่หลังจากนี้อยากชวนทุกท่านไปลงพื้นที่ดูโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และนครพนม เพื่อถอดประสบการณ์ตรงว่า สถานศึกษาต้นแบบแต่ละแห่งมีรูปแบบวิธีการจัดสรรและหางบประมาณ รวมถึงวัดประเมินผลกันอย่างไร แล้วท่านจะมองเห็นโครงสร้าง เห็นการจัดทำระบบที่เริ่มตั้งแต่การคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย จำแนกกลุ่มเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แล้ววางแนวทางดูแลช่วยเหลือส่งต่อที่เหมาะสม รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานเฉพาะทางต่าง ๆ เพื่อจะดูแลเด็กให้ครบทุกด้าน ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้จน และไม่ให้ไม่รู้” ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า “การจัดการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กล้าคิดนอกกรอบ” คือทัศนคติที่สำคัญของการสร้างห้องเรียนแห่งโอกาสเพื่อทำให้เด็กทุกคนได้เข้าสู่การศึกษา และ กสศ. จะสนับสนุนและร่วมมือกับทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษา เพื่อทำให้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบเกิดขึ้นให้ได้และเกิดการขยายผล ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวถึงข้อมูลตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับ 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บูรณาการการทำงานสำรวจเด็กเยาวชนวัย 3-18 ปีที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 1,250,514 คน โดยมองว่าการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาได้ “เราต้องไม่ลืมว่า การพาเด็กกลับมาเรียนไม่ได้สิ้นสุดที่การพบตัวและพากลับไปที่โรงเรียน แต่การตามเด็กกลับมาแล้วจะทำให้เขาไปต่อได้ ต้องมีแนวทางรับมือที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีวิธีการที่เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กที่มีภาระหน้าที่ต่าง ๆ อาทิต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือต้องไปประกอบอาชีพหารายได้ ดังนั้นเราต้องมีระบบศูนย์การเรียน มีการฝึกอาชีพ มีห้องเรียนแห่งโอกาส โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่ากุญแจสำคัญของการมาพบกันครั้งนี้ คือ ถ้าทุกโรงเรียนมองร่วมกันว่าจะเอาหลักสูตรเป็นตัวตั้ง แล้วคิดทะลุกรอบออกไป ช่วยกันบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ เข้าไปในกิจวัตรประจำวันหรือภาระงานของผู้เรียน เราจะมีวิธีรับมือกับเด็กทุกกลุ่ม ทุกความเสี่ยง และทุกทางแยกที่เด็กต้องเผชิญในชีวิต “อย่าลืมว่าเด็กคนหนึ่งเมื่อออกจากโรงเรียน ก็เหมือนถูกผลักไปเป็นปัญหาสังคม แล้วไม่เกินสามเดือนชีวิตจะเข้าสู่วงจรสีเทา อย่างไรก็ตามงานหนึ่งที่ กสศ. ทดลองทำกับเด็กเยาวชนในสถานพินิจฯ ได้พิสูจน์ว่า ถ้าเราออกแบบการศึกษาที่หลากหลายและสอดรับกับความสนใจ การศึกษาจะทำหน้าที่ของมัน เป็นการนำโอกาสเข้าไปช่วยฟื้นฟูเยียวยาเด็ก ๆ ให้เขารู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ แล้วเขาจะพาตัวออกจากวงจรเสี่ยง และกลับมาอยู่บนทิศทางที่เหมาะสมได้อีกครั้ง บทเรียนนี้บอกเราว่า ถ้านำวิธีการนี้ย้อนกลับไปทำที่้ต้นทางคือในโรงเรียน ซึ่งตัวกฎหมายเอื้อให้ทำได้ เราอาจลดปัญหาอาชญากรรมเด็ก จิตเวช ยาเสพติด และปัญหาอื่น ๆ ในสังคมพร้อมลดจำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้จำนวนมาก “อีกประเด็นต้องกล่าวถึงคือในกระบวนการนี้ คือครูจะมีบทบาทสำคัญในการประคองชีวิตเด็กคนหนึ่ง ให้ไปถึงโอกาส ให้เข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา การเตรียมตัวเปิดเทอมใหม่นี้ จึงอยากชวนครูสำรวจครอบครัวศิษย์ เพื่อไปดูข้อเท็จจริงในชีวิตของเขาว่ามีข้อแม้อุปสรรคใด ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งขาดเรียนบ่อยหรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แล้วถ้ารู้สภาพจริงที่เด็กเผชิญอยู่ ก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นกลับมาวางแผนดูแลช่วยเหลือได้ตรงจุด รวมถึงครูยังต้องเป็นผู้สื่อสารให้ข้อมูลกับผู้ปกครอง เพื่อปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาของบุตรหลาน”