มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ร่วมจับมือ กสศ. ผลิตครูคุณภาพเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการครูสร้างชุมชน เพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ผสานพลังความร่วมมือ All For Education เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของพื้นที่สู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแบบมีส่วนร่วม
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ เป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่ดำเนินพันธกิจในการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย มอบโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาตลอด 65 ปี สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการดำเนินโครงการอุปการะเด็กและโครงการพิเศษให้กับเด็กและเยาวชนมาแล้วมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ โดยมูลนิธิมีความตั้งใจที่จะร่วมผลิตและพัฒนาครูร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยโมเดลครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยความตระหนักว่า การผลิตหรือพัฒนาครูที่เป็นเด็กในชุมชนนั้น ๆ ให้มีความสามารถทำงานกับปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และเป็นครูที่มีศักยภาพในการช่วยพัฒนาชุมชน ลดปัญหาการโยกย้าย ถือเป็นแนวทางการผลิตและพัฒนาครูที่ยั่งยืน
“ธนาคารโลกและมูลนิธิที่เกี่ยวกับการศึกษา เคยระบุว่า ไม่มีวันที่ระบบการศึกษา จะมีคุณภาพดีกว่าคุณภาพครูไปได้ แสดงว่า คุณภาพการศึกษา ขึ้นอยู่กับคุณภาพครู การสนับสนุนการผลิตครูที่มีคุณภาพ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และหากมองในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาครูหรือการพัฒนาคนขึ้นมาหนึ่งคน จะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมหรือสร้างแรงกระเพื่อมด้านการพัฒนาเป็นวงกว้าง ครูคนนั้นจะไปลงหลักปักฐานในชุมชนตัวเอง สร้างครอบครัว สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต ต่อเนื่องไปถึงคนอื่นๆ ในชุมชนได้”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า มีคำกล่าวที่ว่า ทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่สุดของคนยากจน คือลูก การผลิตครูจากเด็กที่มีสถานะทางครอบครัวยากจน จึงเป็นการช่วยเพิ่มทรัพย์สินที่มีมูลค่าอยู่แล้วสำหรับแต่ละครอบครัวให้มีมูลค่ายิ่งขึ้นไปอีก และหากครอบครัวที่ยากจน มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงชุมชนและสังคมในที่สุด การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ด้านครู จึงเป็นเรื่องที่ดีเช่นเดียวกับการลงทุนในการดูแลเด็ก
“เชื่อมั่นว่า การผลิตครูที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน เพราะเด็กในพื้นที่ห่างไกลขาดโอกาสนั้นมักมองเห็นครูเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นทุกๆ อย่างในชีวิต ครูที่มีคุณภาพ จะช่วยทำให้เด็กมีความฝัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ กสศ. ตระหนักว่าเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นซึ่ง กสศ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 คือความตั้งใจที่จะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัจจุบันยังประสบปัญหาขาดแคลนครู มีครูสอนไม่ครบชั้น
“โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลบางแห่ง มีเพียงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูเพียงสองคน แต่ต้องจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้น ป.6 มีอัตรากำลังครูบรรจุในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง แต่โรงเรียนก็ยังประสบปัญหาอื่น ๆ เช่น ครูโยกย้ายไปที่อื่น กว่าจะได้อัตราเสริมในส่วนที่ขาดแคลนได้ ก็อาจจะกระทบกับการเรียนการสอน กระทบกับ การเรียนรู้ของเด็กในที่สุด”
ดร.ไกรยส เชื่อว่า โครงการครูสร้างชุมชน เพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นความพิเศษ เพราะเป็นการเปิดรับครูเพื่อมาเรียนในสาขาสำคัญ 2 สาขาที่กำลังขาดแคลน คือ การศึกษาพิเศษ ซึ่งหมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องหรือมีความต้องการพิเศษด้านต่าง ๆ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ สร้างครูที่มีทักษะ มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งก่อให้เกิดผลดีในระยะยาวกับเด็กกลุ่มพิเศษควบคู่ไปกับทักษะทางวิชาการ เช่นเดียวกับครูสาขาภาษาไทย ครูสาขาวิชานี้ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก เพราะการอ่าน เป็นหน้าต่างสำคัญของการเรียนรู้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่ซับซ้อน
“ที่ผ่านมาเราพบว่าคะแนนการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA ของเด็กไทยต่ำเพราะมีปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการการอ่านหนังสือไม่แตกฉาน ไม่สามารถตีความสิ่งที่อ่านได้ หากมีครูภาษาไทยเพิ่มขึ้นและมาช่วยด้านนี้ นอกจากจะส่งผลให้สถานการณ์ด้านการอ่านของเด็กไทยดีขึ้นแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่การเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อีกด้วย
“นอกจากนี้ การผลิตครูในโครงการนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะเอกชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในหลากหลายรูปแบบ และเรื่องของการสนับสนุนโครงการและการระดมทุน สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า การขับเคลื่อนการศึกษาตามแนวทาง All For Education คือการสร้างความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ขยายไปสู่แนวร่วมอื่น ๆ ให้กว้างที่สุด เพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำเพียงลำพังไม่ได้”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากที่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ได้ทราบถึงเครื่องมือและนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ กสศ. ริเริ่มโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพครูและสร้างโอกาสสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษาที่สามารถพัฒนาศักยภาพจนกลับไปเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในชุมชน จึงได้เข้ามาร่วมพัฒนาครูผ่าน ‘โครงการครูสร้างชุมชน เพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร’ เพื่อสนับสนุนนักเรียนที่ด้อยโอกาส มีสถานะทางบ้านยากจนและอยากเป็นครู ให้ได้มีโอกาสเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในสาขาการศึกษาพิเศษและการศึกษาระดับประถมศึกษาวิชาเอกภาษาไทย จำนวน 30 ทุน ให้ได้รับโอกาสด้านการศึกาาคู่ขนานไปพร้อม ๆ กับนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5 ปีการศึกษา 2567 โดยการเรียนในทั้ง 2 สถาบัน เป็นหลักสูตร 4 ปี ผู้ที่ได้รับทุนโครงการครูสร้างชุมชนเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารจะได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุม ทั้งด้านค่าครองชีพ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหอพัก ค่าตำราเรียนและอุปกรณ์ที่จำเป็น ฯลฯ เป็นเงินปีละ 150,000 บาท ตลอด 4 ปี