ปานแดง เป็นโรคเนื้องอกหลอดเลือดชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ใช่เนื้อร้าย สามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสวยงามและสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปานแดงนั้นเกิดบนใบหน้าหรือมีขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันทางการแพทย์มีการรักษาที่สามารถช่วยผู้ป่วยปานแดงให้ดีขึ้นได้ พญ.นิอร บุญเผื่อน แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเด็กและผู้ใหญ่ ประจำลัลลลิตาคลินิก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปานแดงไว้ดังนี้ ปานแดงที่พบบ่อยมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ 1.ปานเนื้องอกหลอดเลือดในเด็ก (Infantile Hemangioma) มักเริ่มพบในช่วงอายุ 2 - 3 สัปดาห์ เห็นเป็นเพียงลักษณะรอยแดงราบ หรือเป็นจุดสีแดงขนาดเล็ก จากนั้นก้อนเนื้องอกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีช่วงการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงอายุ 6-9 เดือน แบ่งย่อยตามความลึก ปานเนื้องอกหลอดเลือดชนิดตื้น เห็นเป็นปานสีแดงสดบนผิวหนัง ปานเนื้องอกหลอดเลือดชนิดลึก เห็นเป็นสีเขียว หรือน้ำเงิน หรือสีเดียวกับผิวหนัง คลำแล้วรู้สึกถึงก้อนที่อยู่ใต้ผิวหนัง หรือในบางรายเป็นชนิดผสม คือ อยู่ในตำแหน่งทั้งตื้นและลึก การดำเนินโรคนี้ โดยทั่วไปอาจโตได้จนถึงอายุ 1 - 2 ปี ต่อมาก้อนจะมีขนาดคงที่ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายระยะนี้ใช้เวลาไม่เท่ากัน หลังจากนั้นก้อนจะเริ่มยุบลงเรื่อย ๆ มีสีซีดลง เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีม่วงอมเทา เริ่มแบนและยุบตัว ถ้าเป็นก้อนตึงจะค่อย ๆ นิ่มลง เนื่องจากมีเนื้อเยื่อไขมันและพังผืดเข้ามาแทนที่โดยใช้เวลาหลายปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพียงเฝ้าติดตามและสังเกตอาการ เนื่องจากสามารถหายไปได้เองในที่สุด มีเพียงร้อยละ 10 ที่ต้องการการรักษา เช่นกรณีดังต่อไปนี้ 1. ปานเนื้องอกหลอดเลือดที่อยู่บนใบหน้าอาจส่งผลให้เกิดความไม่สวยงามหรือมีโอกาสเกิดแผลเป็น 2. อยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสบดบังการมองเห็น เช่น เปลือกตา 3.ก้อนโตขึ้นเร็วมาก ๆ จนเกิดการแตกเป็นแผล มีเลือดออก เป็นต้น หากปานเนื้องอกหลอดเลือดเลือดอยู่บนหน้าผากด้านใดด้านหนึ่งและมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มอาการ PHACEs เช่น ความผิดปกติของสมอง หัวใจ หลอดเลือด ตา ซึ่งกลุ่มอาการนี้จำเป็นต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในหลายแขนงร่วมกันดูแล หรือหากมีปานเนื้องอกหลอดเลือดจำนวน 5 จุดขึ้นไป ควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมเนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกหลอดเลือดที่อวัยวะภายใน เช่น ตับ ทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้เสียเลือดหรือเสียชีวิตได้ และทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ในส่วนของการรักษามีได้หลายวิธี เช่น การทายา การรับประทานยา เลเซอร์ หรือผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปานเนื้องอกหลอดเลือด ตำแหน่ง ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะให้การตรวจวินิจฉัยให้คำปรึกษาและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 2.ปานแดงหลอดเลือด (Port-Wine Stain) เป็นตั้งแต่เกิด มักเป็นแผ่นสีแดงราบบนผิวหนัง ขยายขนาดหรือหนาขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ไม่สามารถหายไปได้เอง และยังไม่มียาหลักในการรักษา การรักษาหลักในปัจจุบัน คือ การใช้แสงเลเซอร์ชนิดที่จับและทำลายหลอดเลือดแดงที่อยู่บนผิวหนัง โดยต้องทำหลายครั้งจึงเห็นผล ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความหนาของปาน การตอบสนองต่อเลเซอร์ เครื่องและชนิดของเลเซอร์ที่ใช้ และความชำนาญของผู้ให้การรักษาประกอบกัน ผู้ป่วยควรมารับการรักษาโดยเร็วจะให้ผลดีกว่า เนื่องจากปานไม่หนามาก แสงเลเซอร์สามารถเข้าถึงได้ดี ทำให้จำนวนครั้งที่ใช้ในการรักษาน้อยลง ค่ารักษาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปานแดงนูนหนาตัวขึ้นจนทำให้โครงสร้างของอวัยวะที่มีปานอยู่มีรูปร่างผิดปกติไป เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก มีตุ่มนูนแดงเกิดขึ้นบนปานเดิม มีเลือดออก เจ็บ มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ปานแดงหลอดเลือดหากเกิดบนใบหน้าในบริเวณเปลือกตาและหน้าผากด้านใดด้านหนึ่ง ต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกความผิดปกติที่มีโอกาสพบร่วมด้วย เช่น ตา หลอดเลือดสมองผิดปกติที่เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคลมชักดังที่พบในกลุ่มอาการ Sturge Weber นอกจากนี้ปานแดงหลอดเลือดยังสามารถพบร่วมกับความผิดปกติของหลอดเลือดดำ หลอดน้ำเหลืองได้ เกิดเป็นความผิดปกติของกลุ่มอาการต่าง ๆ อีกมากมาย หากตัวท่านหรือมีเด็กในความดูแลมีความผิดปกติของหลอดเลือดบนผิวหนัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและทราบแนวทางการรักษาที่เหมาะสมไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาจเป็นอันตรายได้ สามารถเข้ารับการปรึกษาและร่วมหาแนวทางการรักษาที่ลัลลลิตาคลินิกกับ พญ.นิอร บุญเผื่อน แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเด็กได้ที่ช่องทางด้านล่างFacebook : Lullalita ClinicTel : 0863534562Line ID : @lullalitaclinic