สศท.ลงพื้นที่ จ.ตรัง ชูเอกลักษณ์ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ตามรอยมรดกทางภูมิปัญญา

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ จ.ตรัง ตามรอยมรดกทางภูมิปัญญา “ผ้าทอนาหมื่นศรี” เอกลักษณ์เมืองตรัง พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ดึงองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวด้วยวิถีชุมชน มุ่งส่งต่อเสน่ห์ในงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ต่อยอดกับกระแสการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ควบคู่การสร้างความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย

นายภาวี โพธิ์ยี่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จังหวัดตรัง แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง แต่เต็มไปด้วยทุนทางวัฒนธรรมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี อาหารเลิศรส ตลอดจนองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีความโดดเด่น จึงนับว่าเป็นพื้นที่ศักยภาพที่สามารถขับเคลื่อนเป็นชุมชนเรียนรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม ที่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดเด่นในงานศิลปหัตถกรรม “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ที่เลื่องชื่อ มีการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิมซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยกี่พื้นเมือง เรียกว่า หูก และได้ จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ อีกทั้งคนในชุมชนยังมีความเข้มแข็ง ได้มีการรวมกลุ่มทอผ้าเพื่อจะอนุรักษ์มีก่อตั้งกลุ่มผ้าทอขึ้นเมื่อ ปี 2516 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาและสืบสานมรดกในงานหัตถกรรมให้คงอยู่ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถมีอาชีพที่พึ่งพาตนเองพร้อมจะส่งต่อคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ สศท.ในการเข้ามามีส่วนบูรณาการร่วมกับชุมชน เพื่อยกระดับให้เป็นชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในกระบวนการส่งเสริมให้เป็นชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนั้น สศท.ได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อทำการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อาทิ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และนำมาวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัด เพื่อนำมาสู่การร่วมกำหนดทิศทางและการดำเนินการร่วมกันกับคนในชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตรังมีสิ่งดึงดูดใจที่โดดเด่นหลายอย่าง อาทิ มีสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนที่มีความสวยงามในแบบ ชิโน – โปรตุกีส ที่ผสมผสานศิลปะปูนปั้นแบบจีน ถือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของเมืองตรังที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวซึ่งนิยมชื่นชมความงดงามของวิถีชุมชน พร้อมกันนี้ยังมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายจึงเรียกได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์ และเมื่อมองด้านศักยภาพชุมชนศิลปหัตถกรรมจะเห็นถึงเสน่ห์ของผ้าทอนาหมื่นศรี มรดกทางภูมิปัญญาชาวบ้านนาหมื่นศรีที่สืบทอดต่อกันมากว่า 200 ปี มีภูมิปัญญาที่สะท้อนทักษะเชิงช่าง โดยแบ่งโครงสร้างผ้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ที่แม้จะทำได้เป็นหมื่นสี แต่เอกลักษณ์ดั้งเดิม คือผ้าสีแดงเหลืองมีโครงสร้างผ้าเป็นภาษาใต้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นริมตีน แม่แคร่ ลูก เกียบ ชายรุ่งริ่ง และหน้าผ้า ที่ชุมชนแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ผ้านุ่ง ผ้าถุงโสร่ง และโจงกระเบน ผ้าพาดหรือผ้าห่ม นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันผ้าทอนาหมื่นศรีให้เป็นของดีเมืองตรัง และยังได้ริเริ่มทำ “โครงการท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี” ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ควบคู่การส่งเสริมการท่องเที่ยว

ดังนั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมเข้ากับการท่องเที่ยวให้สามารถถ่ายทอดเสน่ห์ และองค์ความรู้ของงานศิลปหัตถกรรมได้อย่างสมบูรณ์ สศท.ยังได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งมีทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 ประเภทเครื่องทอ ผ้าทอนาหมื่นศรี คุณลัดดา ชูบัว และ ทายากช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 ประเภทเครื่องทอ ผ้าทอนาหมื่นศรี คุณรุจิรา แท่นมาก ร่วมถ่ายทอดความงดงาม "ผ้าทอนาหมื่นศรี" ให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยว และเกิดเป็นเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่เพียงแต่การใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารแล้ว ยังจับจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรม มาเป็นของขวัญของฝาก ซึ่งจะช่วยให้เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรม ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมควบคู่กัน