ศิริราช ก้าวที่สำเร็จ ผ่าตัดข้อเข่า 79 ข้อ ชาวภูฏาน เทิดพระเกียรติ 72 พรรษา 60 ปี คณะออร์โธปิดิกส์ เดินตามรอยพระศาสดา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 น. ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานงานเลี้ยงขอบคุณโครงการ “ศิริราชมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj @Kingdom of Bhutan” ก้าวตามรอยพระบรมศาสดา ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 21-26 พฤศจิกายน 2567 พันธกิจ "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า 53 คน 79 ข้อ" และแบ่งปันองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างยั่งยืน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 60 ปี คณะออร์โธปิดิกส์ โดยทีมแพทย์ศิริราช ณ รพ. Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital สำเร็จปลอดภัยตามวัตถุประสงค์ทุกประการ โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ร่วมงาน ณ โถงธนบุรี พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2431 ตลอดระยะเวลา 136 ปี ที่เป็นสถาบันการแพทย์ เรามีหน้าที่ในการดูแลพสกนิกรคนไทยของพระองค์ท่านมาโดยตลอด ในปีหนึ่งมีคนไข้มารับการรักษาที่ศิริราชกว่า 4.8 ล้านคน รวมทั้งเรามีหน้าที่ในการที่จะต้องผลิตแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้ออกไปดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนําความรู้และทักษะต่างๆ ออกไป สิ่งที่สําคัญที่สุด คือ เรามีอาจารย์แพทย์ มีแพทย์ มีพยาบาล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดูคนไข้ที่มีความยากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และศิริราชไม่ได้ดูคนไข้เฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราช เรายังมีโอกาสไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยในจังหวัดที่มีความต้องการถิ่นทุรกันดารทั้งหลาย นอกจากจะไปช่วยเหลือผ่าตัดดูแลคนไข้จังหวัดต่างๆ แล้ว ยังมีโอกาสได้สอนศิษย์เก่าคุณหมอ พยาบาล ที่จะสามารถนําความรู้ที่อาจารย์ไปมอบให้ เพื่อที่จะดูแลประชาชนคนไทยที่อยู่ตรงบริเวณต่างๆ ด้วย ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่าประเทศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยการที่เรานำทีมหมอออร์โธปิดิคส์ หมอดมยา นักกายภาพบำบัด พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงนักศึกษาทุกคนที่มีความประสงค์ที่อยากจะช่วยเหลือทีมศิริราช เราไปช่วยผ่าตัด ข้อเข่าให้กับคนประเทศภูฎาน จํานวน 53 ราย 79 เข่า สิ่งที่ทําได้ คือ ต้องมีมาตรฐานคุณภาพในการดูแลอย่างสูงส่ง มีทีมเวิร์ค มีความรู้ความสามารถที่ดี สามารถที่จะส่งต่อถึงหมอระหว่างการแพทย์ของทางประเทศภูฎานได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าศิริราชเราไม่ได้ดูแลคนในภายในประเทศ แต่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ให้เราไปช่วยเหลือชีวิตของผู้คนจํานวนมาก และนําเอาความรู้ รวมถึงความเอื้ออาทร ความมีเมตตา มีความประสงค์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่เขาต้องการจริงๆ การรักษาชีวิตผู้ป่วย ไม่ได้จํากัดพรมแดน ไม่ได้จํากัดเชื้อชาติ เพศอะไรทั้งสิ้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ มีความตั้งใจที่อยากจะให้โอกาสกับคนไข้ที่เขาจําเป็นต้องได้รับ “ทีมศิริราชรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ทำภารกิจนี้ได้อย่างสําเร็จสมบูรณ์ ผมในนามของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความภาคภูมิใจ ในบุคลากรทุกๆ คน และต้องขอขอบพระคุณ พระราชภาวนาวชิรากร เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต รวมทั้งสาธุชนทุกๆ คนที่ได้ทําให้โครงการที่มีความสําคัญกับคนไทย และคนที่นับถือศาสนาพุทธจากต่างประเทศอื่นได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ศิริราช” สำหรับโครงการก้าวแรกพระบรมพระศาสนดา ในก้าวที่ 3 นั้น นายแพทย์อภิชาติ กล่าวว่าคงเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ในทีมมองว่าอาจจะเป็น ทางประเทศลาว หรือประเทศศรีลังกา ซึ่งทางทีมคงจะตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ต้องดูความพร้อม ต้องดูสิ่งต่างๆ ที่ไปแล้วได้ตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งพร้อมให้ครบถ้วน “ศิริราช เป็นส่วนหนึ่งของระบบการแพทย์ การสาธารณสุข เราเชื่อว่าเราเป็นสถาบันนําของประเทศไทยและอาเซียน ดูจากคนไข้ที่รับการรักษา ดูจากผลงานทางวิชาการ ศิริราช เป็นส่วนหนึ่งของการเป็น medicalhub ให้กับประเทศไทยด้วย” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว ด้าน ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด กล่าวว่า โครงการก้าวตามรอยพระบรมศาสดา เป็นโครงการหนึ่งที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ศิริราช และกายภาพบําบัด ได้ตั้งใจที่จะไปมอบความรักให้มวลมนุษยชาติ โดยการที่เราก้าวตามรอยพระพุทธองค์ พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปที่ประเทศใด เราก็จะไปมอบความเมตตาตามที่พุทธศาสนาเผยแพร่ไป ครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ไปที่ประเทศภูฎาน ซึ่งเป็นเมืองพุทธ และเรานําความเมตตาผ่านทางด้านการแพทย์ที่เราเชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบําบัด ศิริราช มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลผู้ป่วยทางด้านกระดูกและข้อต่อเป็นอย่างยิ่ง เราจึงได้เดินทางไปช่วยผู้ที่ด้อยโอกาส ในวาระที่ครบ 60 ปี และตั้งใจจะถวายเป็นพระราชกุศลในวาระที่ 72 พรรษา 72 ข้อ แต่เมื่อไปถึงความต้องการมีมากขึ้นก็ขยายจาก 72 ข้อ เป็น 79 ข้อ “เป็นความสําเร็จ ที่เราภูมิใจอย่างยิ่ง ว่าคนไทยมีความกล้าหาญที่จะนําพาสิ่งที่เราเชี่ยวชาญไปส่งมอบต่อให้กับคนที่ไม่รู้จักกันเลย แต่เค้าทุกข์ทรมานรอคอยแล้วก็ได้โอกาส อันนี้เกิดขึ้น” ศ.นพ.กีรติ กล่าวว่าความสําเร็จเกิดขึ้นเพราะเราร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง เราต้องทําการบ้านกันล่วงหน้าอย่างมาก เพราะประเทศภูฏานเป็นประเทศปิด เรามีลูกศิษย์ที่สําเร็จจากเราแล้วกลับไปทําหน้าที่ผ่าตัด แต่ผ่าข้อเข่ายังไม่ได้ เราจึงยกทีมไปเป็นพี่เลี้ยงให้บุคลากรสาธารณสุขของประเทศภูฎาน ได้เห็นขบวนการทั้งหมด ว่าทําอย่างไร และหลังจากความสําเร็จนี้ ทีมแพทย์ประเทศภูฎาน จะทําได้อย่างที่เราไปส่งมอบให้ นี่คือ เราส่งมอบระหว่างแพทย์ต่อแพทย์ วิสัญญีต่อวิสัญญีศัลยแพทย์ต่อศัลยแพทย์ พยาบาลต่อพยาบาล กายภาพบําบัดต่อกัน ทําให้เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยจํานวนมาก ต้องทำอย่างไร ปัญหาอุปสรรคที่ต้องเตรียมเลือด เตรียมความพร้อม เตรียมความสะอาด สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เราต้องวางแผนกันอย่างมากมาย อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือผ่าตัดต้องยกไปทั้งหมด เพื่อให้ผ่าตัดได้กระชับ และประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด “สิ่งที่เราไปส่งมอบนอกเหนือจากดูแลผู้ป่วยแล้ว เรายังได้สร้างแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศภูฎาน ให้มีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญ และทํางานร่วมกันเป็นทีมได้ และสิ่งที่เราเห็นถึงความสําเร็จ คือ ตอนที่เรากลับมาจากโครงการ แพทย์และทีมแพทย์ภูฎาน บอกเองว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า เค้าจะยกทีมไปยังทิศตะวันออกของประเทศภูฎาน ซึ่งคนไข้มาไม่ถึงมาไม่ได้เขาจะยกทีมไปที่นั่นเลย อย่างเช่นที่เรายกทีมจากประเทศไทยไปที่ประเทศภูฎาน นี่คือ สิ่งที่เราเห็นว่าเมื่อเราส่งมอบแล้ว เราสร้างคนเขาจะยืนได้ด้วยตนเอง เขาจะมีความก้าวหน้าที่จะเป็นที่พึ่งของสังคมได้ด้วยตนเอง เหมือนกับคนไข้ที่เคยมีคุณค่าในตัว แต่ยามใดที่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่สามารถดูแลตัวเองได้ สูญเสียชีวิต คุณค่าไป คือ สิ่งที่ชีวิตจะต้องมีอยู่เพื่อเมื่อมีคุณค่าในตนเอง ไม่มีใครอยากจะเป็นภาระ ใครเลย แม้กระทั่งลูกหลาน เพราะฉะนั้น การที่กลับคืนสู่คุณค่าได้ก็คือ การที่เราไปช่วยซ่อม ช่วยเพิ่มเติมป้องกันให้เขากลับมาได้ นี่คือ ความสําเร็จที่ประเทศไทยทำโครงการหนึ่งเล็กๆ แต่มีความมุ่งมั่น และความสำเร็จนั้นจะไปต่อยอดให้เกิดความสําเร็จในประเทศนั้น ของประเทศภูฎานได้“ สำหรับโครงการก้าวแรกพระบรมพระศาสนดา ในก้าวที่ 3 นั้น นายแพทย์กีรติ กล่าวว่ามีแน่นอนเพียงแต่ว่าจะไปที่ไหนต้องติดตามอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีหลายประเทศเห็นว่าประเทศไทยทำได้ก็ขอมาข้ามไปจากแอฟริกาใต้ ติดต่อมา คือ โลกใบนี้ถ้าเราสามารถยื่นมือไปช่วยคนที่ขาดได้ในกําลังความสามารถที่เรามีอยู่ เราก็มีความสุขที่ได้ช่วยเขาไม่มากก็น้อย ”เราเป็นส่วนหนึ่งที่นําพาให้ศิริราช ได้ดูแลประชาชนมนุษยชาติใบนี้ เป็นการมอบความรักให้กับมนุษยชาติ ตามชื่อโครงการ ศิริราชมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ “Love for Humanity by Siriraj“ นายแพทย์กีรติ กล่าว