เปิดใจ 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ กับเคล็ดลับพาองค์กรขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ผ่านหลักสูตร “ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม” (CCIO) รุ่นที่ 3

จากความสำเร็จของหลักสูตร “ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม” (Chief City Innovation Officer: CCIO) ที่จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับกระแสตอบรับอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งล่าสุดในการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 มีผู้บริหารจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมมากถึง 60 ท่าน

และหนึ่งในผู้บริหารที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ตัวแทนจาก บริษัท พฤกษา เรียลแอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งนั่งในตำแหน่ง Head of Innovation มีหน้าที่หลักในการดูซึ่งการได้มาของ Innovation ในองค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Product Service, Process Innovation และล่าสุดตอนนี้ทางพฤกษากำลังจะเปิดตัวโรงพยาบาลวิมุต อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้เข้าไปดูเรื่องของ Hospital medical Innovation ด้วย

ดร.ตฤณ เปิดเผยว่า ได้ติดตาม CCIO มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ แล้ว จึงทำให้เห็นว่า CCIO เป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมได้จริง และถ้ามองไปถึงผลที่จะได้รับต่อสังคม ต่อตัวเมืองแล้วถือว่าเป็นหลักสูตรที่เริ่มต้นและเป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทในการพัฒนาเมืองอย่างมาก

“ผมยังเชื่อมั่นในความเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ทั้ง 4 กลุ่มนี้จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งผมคิดว่ามันตอบโจทย์ของสังคมในหลายๆมิติ เพราะเมื่อภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้นวัตกรรมที่ชัดเจน ภาคเอกชนก็สามารถเดินหน้าธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายได้ ส่วนภาคการศึกษาก็สามารถที่จะนำเอาความรู้ความสามารถหรือศักยภาพของการศึกษาเข้าไปช่วยให้นวัตกรรมเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

“สิ่งที่ผมได้รับจากการอบรมครั้งนี้ มันมากกว่าที่คาดไว้ เพราะวิทยากรทุกๆ ท่านมีทั้งเทคนิค มุมมองและแนวทางที่บางครั้งเราอาจจะไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมว่า CCIO ไม่ใช่การอบรม แต่เป็นการมา Co-Create ร่วมกัน ผมว่าทางทีมงานของ CCIO สร้างกิจกรรมที่ทำให้ทั้งผู้เข้าร่วมอบรม และวิทยากรได้ร่วมกันสร้างสรรค์ไอเดียจนทำให้เกิดแนวความคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้สำเร็จลุล่วง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังไว้แต่แรกว่าจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอด มันมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดเจนขึ้น”

เมื่อถามถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ดร.ตฤณ กล่าวว่า ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด คำที่เราได้ยินบ่อยครั้งคือ New Normal ซึ่งจริงๆ แล้ว New Normal มันมีหลายมิติ บางมิติมันอาจจะเกิดขึ้นแค่ในช่วงสั้นๆ เมื่อโควิดหายไปเราก็กลับมาใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม แต่ New Normal ที่จะอยู่กับเราแบบถาวร ที่เห็นชัดเจนตอนนี้ก็คือเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะพวกที่เป็น Life Style ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ การนำดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ฯลฯ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ชัดเจนขึ้น

“สำหรับพฤกษาเองเราก็มองไว้ในระยะยาวว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย รวมถึงโรงพยาบาลที่เรากำลังดำเนินการอยู่นั้น จะช่วยยกระดับการใช้ชีวิตในทุกมิติ เพราะฉะนั้นภาพของ Real Estate แบบเดิมๆจะเริ่มหายไปและก้าวสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรมมากขึ้น”

สำหรับเรื่องของความประทับใจกับหลักสูตรนี้ ผมว่าต้นทางกับปลายทางมันชัดเจน...เมื่อต้นทางมีทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงาน เพราะฉะนั้นปลายทางคือเราจะต้องสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง จับต้องได้ เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ผมว่าตรงนี้ตอบโจทย์ทั้งหมดแล้ว

สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมอีกหนึ่งท่านที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้าน Smart City มาหลายต่อหลายโครงการ นายชาญชัย ถนัดค้าตระกูล หัวหน้าสำนักงาน บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เยอรมนี โดยคุณชาญชัยรับผิดชอบดูแลธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด

นายชาญชัย เปิดเผยถึงเหตุผลของการร่วมอบรมในครั้งนี้ว่า เพราะส่วนตัวสนใจเรื่องของเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งโครงการทุกๆโครงการที่ได้ทำโดยเฉพาะตัว Smart City จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับ Smart City ที่วางแผน Smart City Development ให้กับภูเก็ต และวางแผน Smart City Service ใน 3 จังหวัดหลักคือเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และ 3 จังหวัดรอง (EEC) ให้กับทางบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดังนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจที่ทำอยู่ จึงอยากจะเข้ามาศึกษาว่าเทคโนโลยีจะสามารถทำให้มุมของสังคมมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างไร
“ในปัจจุบันเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมืองขยายตัวไปมากขึ้น คำถามคือเราจำเป็นไหมที่จะต้องเข้ามาอยู่ในเมือง หรือเราสามารถทำให้คนอยู่นอกเมืองเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเมืองพัฒนาประเทศได้ ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ผมรู้สึกว่าตัวหลักสูตร CCIO นี้มันมีองค์ประกอบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็น

โจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ผมอยากที่จะมาเรียนรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างในหลายๆ มุม ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่หมายรวมถึงต่างประเทศ สำหรับผมนั้นดูในเรื่อง Smart City เรื่องเทคโนโลยีนั้นผมก็พอจะทราบแล้ว แต่ว่ายังมีองค์ประกอบทางด้านอื่นที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ผมจึงอยากที่จะมาเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ และที่ผมคิดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญคือ ไม่ใช่การเรียนรู้จากองค์ความรู้ที่มีอาจารย์มาสอน แต่เป็นการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมหลักสูตรและตัววิทยากรเอง เพราะองค์ความรู้เรียนไปไม่นานมันก็เก่า แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่มาสอน เรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมห้อง ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปต่อยอดและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้สัมผัสการอบรมมาแล้ว เนื้อหาในการเรียนการสอนค่อนข้างดี ช่วยเปิดหูเปิดตา ได้เรียนรู้ในหลายๆ องค์ประกอบที่ต้องการ ส่วนรูปแบบการเรียนผ่านระบบ Zoom Conference ในแบบ New Normal นั้นไม่ได้ยุ่งยากเลย กลับทำให้เราได้เจอวิทยากรจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ

“ตอนนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ Partner ที่ทำในหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่โครงการที่เราทำตอนนี้คือโครงการแหลมฉบังเฟส 3 เราก็สามารถใช้แนวคิดใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะอย่างโครงการแหลมฉบังมันไม่ใช่แค่รีสอร์ท หรือท่าเรือเท่านั้น แต่ยังทำให้สังคมโดยรอบมีความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากการอบรมนี้ผมว่ามีประโยชน์มาก เพราะการพัฒนาไม่ใช่แค่พัฒนาโครงการพื้นฐานแล้วจบ แต่มันเป็นการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต”

เมืองนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการมุ่งพัฒนากระบวนการทางความคิด และสามาถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคมแบบยั่งยืนโดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ