สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี จัดแถลงข่าวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี จัดแถลงข่าว "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร" ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา ตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีนายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 นายณัฐภัทร์ เอมอ่อม นายอำเภอบางคนที นายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และนายพงศกร โรจน์วิไลย ประธานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร ร่วมแถลงข่าวดังกล่าว นายณัฐภัทร์ เอมอ่อม นายอำเภอบางคนที กล่าวว่าอำเภอบางคนทีมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 5,830ไร่ผลผลิต 15,345ตันต่อปี ผลผลิตร้อยละ 85 ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศในลักษณะผลสด ราคาผลละ 22 บาท มีเพียงร้อยละ 15 ที่ใช้บริโภคภายในประเทศ สำหรับตำบลดอนมะโนรา มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ที่มีศักยภาพในการผลิตส่งออกจำนวน 6,000 ตันต่อปีมูลค่าการส่งออกประมาณ 132 ล้านบาท ตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญได้แก่จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ ขณะที่นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อพัฒนาการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่อง ได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา โดยใช้หลักชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ ร่วมรับผลขับเคลื่อนโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young smart farmer ในชุมชนเน้นกระบวนการทำงานโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก และทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ด้านนายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่าได้ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลของกลุ่ม และทำเวทีชุมชนจนทราบปัญหา 3 เรื่อง คือ เรื่องมะพร้าวกลายพันธุ์, เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเรื่องแมลงศัตรูพืช จึงจัดทำโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยการตรวจวิเคราะห์ดิน และยังมีการใช้ปุ๋ย ติดตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชชุมชนภายในชุมชนแบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยการเพาะขยายพันธุ์แตนบราคอน เพื่อใช้เป็นศัตรูธรรมชาติที่สามารถควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว ส่วนนายพงศกร โรจน์วิไลย ประธานโครงการได้กล่าวขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่จัดทำโครงการนี้ ทำให้ชุมชนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันมากขึ้น และได้รับรู้ปัญหารวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องของดินได้อย่างถูกต้องจนทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น