โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า

เมืองพัทยาจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า

วันนี้ (20 ส.ค. 63) เวลา 09.00 น. นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า ณ ห้องบัวหลวงฮอลล์ ศูนย์ประชุมมหาไถ่ พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว​ ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาด้านการจราจรติดขัด​ สาเหตุหลักคือ​ ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ​ส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น​ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและเกิดมลพิษทางอากาศ​ ดังนั้น​ จึงได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม​ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า​ จะเป็นการจัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายในเขตพื้นที่เมืองพัทยา​ และเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบที่มีประสิทธิภาพ​ให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการคมนาคม​ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว​ เพื่อรองรับการเดินทางให้ครอบคลุม​ ด้วยศักยภาพและความเจริญเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว​ ทำให้จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ​ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและเป็นการป้องกันปัญหาการจราจรได้ในอนาคต​ ภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาการขนส่งระบบรางเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว​ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการลดความต้องการการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล​ โดยต้องสอดคล้องกับหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน​ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต​
สำหรับการพัฒนาโครงการฯดังกล่าว​ จะสำเร็จลุล่วงได้นั้น​ จะต้องได้รับการสนับสนุน​ ความร่วมมือ​จากทุกภาคส่วน​ที่เกี่ยวข้อง​ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองพัทยา​ ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษาฯจะได้นำข้อเสนอ​ ข้อคิดเห็น​ ตลอดจนข้อวิตกกังวลต่างๆ​ ไปเป็นแนวทางการปฏิบัติในการศึกษา​ ออกแบบ​ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม​ เพื่อให้ผลการศึกษาของโครงการฯ​ มีความครบถ้วน​เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพ​ และบริบทของพื้นที่มากยิ่งขึ้น​ ตลอดจนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน