อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ให้บริการสร้างสรรค์นวัตกรรมครบวงจร ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และ บริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชัน จำกัด Startup ด้าน IOT ในโครงการบ่มเพาะธุรกิจอุทยานฯ เดินหน้ามอบผลผลิตนวัตกรรม เครื่องฉายแสง UVC ฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ “V-Free By Maneejun” ขยายวงกว้างสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสังคมให้มากขึ้น วันที่ 28 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการฯ พร้อมด้วย คุณไกสร มณีจันทร์ ประธานกรรมการบริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชัน จำกัด Startup ด้าน IOT ภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจของอุทยานฯ เดินหน้ามอบผลผลิตนวัตกรรมเครื่องฉายแสง UVC ฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ “V-Free By Maneejun” จำนวน 3 เครื่อง รวมมูลค่า 163,000 บาท แก่หน่วยงานราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขยายผลการใช้งานผลผลิตนวัตกรรมให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกภาคส่วนมากขึ้นนอกเหนือจากการมอบเพื่อใช้ในสถานพยาบาลจากที่ดำเนินการมอบมาแล้วจำนวนมากกว่า 10 แห่ง โดยหวังช่วยบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงด้านการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบัน รวมถึงการใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในระยะยาว “V-Free By Maneejun” โดย บริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชัน จำกัด เป็นผลผลิตนวัตกรรมที่มีความสามารถ ในการกำเนิดแสง UV ที่มีความเข้มข้นในช่วงคลื่น 253.7 นาโนเมตร สำหรับฆ่าเชื้อทำความสะอาดในพื้นที่มีระบบ อากาศปิดโดยเฉพาะสถานพยาบาลและวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งช่วยลดโอกาสความเสี่ยงของการติดโรคแก่บุคลากรและผู้ใช้บริการสถานพยาบาล โดยออกแบบให้อุปกรณ์สามารถเคลื่อนที่ได้เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานและเพิ่มพื้นที่สำหรับการฆ่าเชื้อในบริเวณต่างๆ รวมถึงพื้นที่ยากต่อการทำความสะอาด ทั้งยังมีระบบหยุดการทำงานฉุกเฉิน พร้อมสามารถควบคุมการทำงานจากระยะไกล แสดงผลประสิทธิภาพการทำงาน และรายงานผลอายุการใช้งานของอุปกรณ์หลอด UVC ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งสะดวกต่อผู้ใช้งานและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตรายอื่นได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกแบบเครื่องดังกล่าวเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานถึง 3 ขนาด ครอบคลุมรัศมีการทำงานจากเครื่องในระยะ 3 - 5 เมตร (ตามแต่ละขนาดเครื่อง) ซึ่งสามารถขยายผลประยุกต์ใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ เช่น สำนักงาน สถานที่ให้บริการของหน่วยงานที่มีความแออัดหรือมีการสัมผัสจากกลุ่มคนจำนวนมาก สถานศึกษา ตลาดสด รถขนส่งสินค้า โรงแรม ฯลฯ โดยสามารถช่วยลดต้นทุนในการทำความสะอาดจากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ลดจำนวนแรงงานและระยะเวลาในการทำความสะอาด รวมถึงลดปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำยาฆ่าเชื้อได้อีกด้วย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชัน จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการกลุ่ม Tech Startup ที่ให้บริการด้านการวางระบบ IOT กับสิ่งของเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างครบวงจร อาทิ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง รวมถึงซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า อย่างประตูเลื่อนหน้าบ้าน ชุดล็อคประตูหน้าบ้าน ชุดระบบแสงสว่าง ชุดควบคุมเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ปลั๊ก ปั๊มน้ำ ม่านไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเข้ารับบริการภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Business Incubation: TBI) นับตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับคำปรึกษาและช่วยเหลือด้านการวางแผนธุรกิจ พัฒนาศักยภาพทางด้านการตลาด การเงิน การบริหารจัดการ รวมถึงคำปรึกษาแนะนำในการต่อยอดธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจนเกิดเป็นเครื่อง V-Free By Maneejun ส่งเสริมการนำนวัตกรรมกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มุ่งเน้นการให้บริการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้วยงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และสร้าง Startup โดยนำความรู้ งานวิจัย และผลผลิตนวัตกรรมที่ได้จากการให้บริการของอุทยานฯ เพื่อตอบโจทย์สังคมและสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา อุทยานฯ ได้ร่วมกับบริษัท มณีจันทร์ฯ เดินหน้ามอบเครื่อง UVC แก่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่อีกหลายแห่ง พร้อมมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มอันเป็นผลผลิตจากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรของอุทยานฯ รวมถึงอุปกรณ์ด้านการแพทย์อย่างหน้ากาก Face Shield ซึ่งใช้เทคโนโลยี 3D Printing เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยทางอุทยานฯ ได้วางแผนการส่งมอบสิ่งของสนับสนุนเพิ่มเติมโดยตั้งเป้าว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะขยายและเร่งสายการผลิตเครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่ (Electrolyte Beverage) เพิ่มพลังงาน, ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศราชินีอบแห้งวิตามินสูง, เยลลี่ให้พลังงานพร้อมเกลือแร่วิตามินซีสูง, ข้าวสวยพร้อมรับประทานและแกงฮังเลพร้อมรับประทาน จากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรได้มากถึง 4,500 ชุด และจะสามารถผลิตหน้ากาก Face Shield ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing เพื่อส่งมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบได้อีกกว่า 500 ชิ้น ทั้งนี้ อุทยานฯ ได้วางแผนและนำร่องมาตราการรองรับการช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs Startup อาทิเช่น การให้บริการแจ้งข้อมูลข่าวสารสิทธิประโยชน์และให้คำปรึกษาอำนวยความสะดวกทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์, การยกเว้นค่าบริการ Total Innovation Solutions อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวดเชียงใหม่), ผู้ประกอบการ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สามารถนำข้าวเข้ารับบริการจากโรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (RF Technology Pilot Plant) ได้ฟรีใน 300 กิโลกรัมแรก พร้อมเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตรา UTD-RF รับรองคุณภาพข้าว รวมทั้งกลไกสนับสนุนงบวิจัยพัฒนามูลค่าโครงการกว่า 400,000 บาท พร้อมจับคู่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาเชิงเทคโนโลยีให้แก่สถานประกอบการเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการผ่านวิกฤติ COVID-19 ต่อไปได้อีกด้วย