เปิดนวัตกรรม MOOC ส่งเสริมสุขภาพจิตคนทำงาน กับการพัฒนาตนเองในช่วง COVID-19 เรียนรู้กับออนไลน์คอร์สใหม่ล่าสุด จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำฝ่ายสุขภาพจิตและจิตเวช ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ผู้สอนออนไลน์ทาง Thai MOOC และ CMU MOOC จากรายวิชายอดนิยมที่ผ่านมาอย่างรายวิชา "เทคนิคการจัดการความเครียด" CMU031 พัฒนาต่อยอดมาสู่รายวิชาใหม่ล่าสุด "สุขภาพจิตกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับบุคลากรภาครัฐ" CMU 043 จากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ยุคใหม่ทาง www.thaimooc.org หรือ Thai MOOC ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน (Massive Open Online Courses: MOOC) สนับสนุนโดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thai Cyber University หรือ TCU) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปัจจุบันเปิดสอนมากกว่า 400 รายวิชา ตอบสนองการพัฒนาตนเองในยุคดิจิทัล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ เปิดเผยเกี่ยวกับหลักสูตรออนไลน์ MOOC ในรายวิชาสุขภาพจิตกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรภาครัฐ (Mental Health, Occupation for Work Capacity Building of Government Officer) กล่าวว่า เป็นรายวิชาที่อธิบายถึงหลักการและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทางสุขภาพจิต กิจกรรมการดำเนินชีวิตของวัยทำงาน ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burn out) การติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction) และการติดสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Addiction) ตลอดจนผู้เรียนสามารถเรียนรู้ถึงการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ได้มีโอกาสเปิดมุมมองผ่าน กรณีศึกษา อาทิ "มุมมองสุขภาพจิตกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์" กับ Net Idol "ฟลุ๊ค" ศิริญานี ลิ้มทองเจริญ "มุมมองคนรุ่นใหม่วัยทำงานกับการสร้าง Work Life Balance" กับคนทำงานรุ่นใหม่อย่าง ดร.ชวิศ บุญมี และเชื่อมโยง "มุมมอง "จิตวิทยาเชิงบวก" Positive Psychology เพื่อเสริมสร้างพลังชีวิตและการทำงานอย่างเป็นสุขของคนทำงาน" กับอาจารย์จิตวิทยายุคใหม่ ดร.ปริยานุช วุฒิ ชูประดิษฐ์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้น การออกแบบเรียนรู้อย่างสั้นกะชับผ่านคลิปละ 7-10 นาทีต่อตอนย่อย และฝึกทำแบบทดสอบวัดผลท้ายบททั้ง 5 บทเรียน ในจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 10 ชั่วโมงเรียนรู้ (จำนวนชั่วโมงสื่อวิดิทัศน์ 3 ชั่วโมง 30 นาที) โดยผู้สอนได้สรุปสาระสำคัญเบื้องต้น ไว้ดังนี้ เริ่มเรียนรู้ เรื่อง "สุขภาพจิตที่ดี" เพื่อเสริมสร้างความสามารถของบุคคลในการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น และความสามารถที่อยู่ได้หรือทำสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลง เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในใจบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี ก็จะสามารถปรับจิตใจให้เกิดความพอใจในผลที่ได้รับ และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาแทนที่จะหลีกหนีจากปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ๆ นอกจากนี้บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีและสามารถใช้ความรู้สึกขัดแย้งในใจต่าง ๆ เป็นแรงผลักดันให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ประเด็นเรียนรู้ต่อมาในเรื่อง "กิจกรรมการดำเนินชีวิต" ในวิถีชีวิตตามบริบทของวัยทำงาน ทำให้บุคคลพัฒนาความสนใจในการทำกิจกรรมนั้น ๆ และให้ความหมายแก่กิจกรรมที่ตนเองทำ ซึ่งการแสดงความสนใจในการทำกิจกรรมมักจะเห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งความสนใจในกิจกรรมนั้นอาจพัฒนาไปเป็นงานอาชีพหรือกิจกรรมยามว่างได้ บุคคลสามารถแสดงความสามารถ เรียนรู้ว่าตนทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ไม่ดี ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตัวเอง มีการค้นหาว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของชีวิต ทำให้รู้ว่าตนควรจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใดในอนาคต มีการเรียนรู้และฝึกฝนตนเองจนเกิดทักษะและอุปนิสัยที่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่บทบาทหน้าที่การทำงานและสังคมในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ในโลกการทำงานอาจจะเผชิญกับช่วงวิกฤต "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" เกิดจากความเหน็ดเหนื่อยที่มักเป็นผลมาจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยอาจทำให้อ่อนเพลีย เฉยชาต่อทุกสิ่ง รู้สึกล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญบางรายคาดว่า Burn out อาจเป็นอาการของภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการใช้ชีวิตแบบเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลาจนทำให้รู้สึกกดดันมาก เหนื่อยหมดแรง ว่างเปล่า และหมดไฟไปในที่สุดได้ นอกจากนั้น ยังได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "พฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์" เนื่องจากทางการแพทย์เป็นการเสพติดทางพฤติกรรมและจิตใจ ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้ใช้หมกมุ่นกับการใช้อินเตอร์เน็ตมากเกินไป จนอาจไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ใช้ในระยะเวลาที่กําหนดได้ ทําให้ใช้อินเตอร์เน็ตนานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน และใช้นานมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถูกขอให้เลิกใช้หรือหยุดเล่นจะเกิดปฏิกิริยาที่ต่อต้าน หรือมีอาการหงุดหงิดไม่พอใจอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นก้าวร้าว การใช้อินเทอร์เน็ตที่มากเกินไปจนถึงขั้นเสพติดจะส่งผลกระทบสำคัญทั้งต่อสุขภาพร่างกาย เสียหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น ละเลยการเรียนหรือการทํางาน ไม่สนใจดูแลตัวเอง เสียสัมพันธภาพกับผู้อื่น ละเลยการเข้าสังคม หรือทํากิจกรรมร่วมกับครอบครัว ในบางรายอาจมีปัญหาทางจิตเวช ปัญหาอารมณ์ หรือปัญหาพฤติกรรมเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนั้น บทสรุปส่งท้าย จึงนำเสนอถึงเรื่อง "การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต" เพื่อให้เกิดสภาวะความสุขสมบูรณ์ เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น การได้รับการฝึกการแสดงออกที่เหมาะสม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมั่นคงทางจิตใจ ให้ความรักผู้อื่นได้ ยอมรับตนเอง เรียนรู้ เข้าใจคุณค่าตนเอง เพื่อให้มีการปูพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็งและยืดหยุ่น สามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้ดีอยู่ในสังคมได้ดี ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ อันจะเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต สำหรับคุณสมบัติผู้เรียน เปิดกว้างทุกระดับตั้งแต่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ที่สนใจสามารถเรียนได้ ในด้านเกณฑ์การวัดผล ผู้เรียนสามารถเข้าทำแบบทดสอบก่อนเรียน กิจกรรมในบทเรียน แบบทดสอบระหว่างเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน โดยผู้เรียนมีคะแนนรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 70% ถือว่าผ่านเกณฑ์เพื่อรับประกาศนียบัตรในระบบได้ จึงได้รับ e-Certificate ที่มีลายเซ็นต์ของอาจารย์ผู้สอน โดยผู้เรียนสามารถดาวน์โหลดผ่านระบบได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา ระยะเวลาในการทำกิจกรรมทุก ๆ กิจกรรม ได้เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ "การเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย (Self-paced Learning)"ผู้สอนจะเข้ามาตรวจสอบกิจกรรม และร่วมตอบในกระดานสนทนาทุก ๆ กระดาน ถ้าผู้เรียนมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถสอบถาม และแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ กระดานสนทนา โดยอาจารย์และผู้ช่วยสอน 3 ท่าน ซึ่งเป็นนักกิจกรรมบำบัด และเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเข้ามาร่วมอภิปรายโต้ตอบ Discussion ทุกวันเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น แม้จะเรียนในระบบออนไลน์แต่มีอาจารย์และผู้ช่วยสอนให้ความสนใจให้ความคิดเห็น และตอบข้อซักถามต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้เรียนที่เรียนรู้แบบผู้ใหญ่ หรือเป็น Adult Learner ซึ่งเป็นคุณลักษณะคนไทยยุคใหม่เป็นผู้เรียนที่นำตนเอง โดยสนับสนุนการเรียนรู้ทุกรูปแบบตามแนวคิด Anytime Anywhere Everyone can Learn เพือเป็นคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล รายวิชา CMU 043 "สุขภาพจิตกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับบุคลากรภาครัฐ" ทีมผู้รับผิดชอบรายวิชา MOOC มีอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาหลัก คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำฝ่ายสุขภาพจิตและจิตเวช ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมผู้ช่วยสอน จำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้ช่วยสอน 1 นายณัฏฐนิช จุมปาทอง (TA01 สไปร์ท) ผู้ช่วยสอน 2 นางสาวชนากานต์ คำคุณ (TA02 พั้นท์) และ ผู้ช่วยสอน 3 นายเจษฎ์บดินทร์ คุ้มครองเล็ก (TA03 เอ้) นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมจะช่วยเหลือดูแลการจัดการเรียนรู้ทาง Thai MOOC ผู้สนใจสามารถติดตามลงทะเบียนเรียนด้วยตนเองใน รายวิชา "สุขภาพจิตกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับบุคลากรภาครัฐ" (Mental Health, Occupation for Work Capacity Building of Government Officer) รหัสรายวิชา CMU 043 สมัครเรียนได้รายวิชาทาง www.thaimooc.orh (Thai-MOOC) ผู้สนใจสามารถสมัครเรียนวิชา ได้ที่ >>> https://bit.ly/3gkcjn6 ผู้สนใจศึกษาวิธีการสมัครเข้าระบบ : http://mooc.thaicyberu.go.th/how-to-thaimooc/ ผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ ผลงานนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งผลงานบริการวิชาการแก่สังคม จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนไทยให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้พร้อมไปด้วยกันกับการมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี