บพท. ร่วมภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมือง ผนึกกำลังจัดประชุมเชิงวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2
บพท. ร่วมภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมืองประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมืองที่นำไปสู่กลไกข้อมูลสาธารณะของการพัฒนาเมือง ผนึกกำลังจัดประชุมเชิงวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผนึกกำลังจัดงาน “การประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง และการประชุมวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference)” ครั้งที่ 2 พร้อมการเสวนา “ความหวังของเศรษฐกิจใหม่ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับเมือง” โดยมี พันตำรวจโท อนุรักษ์ จิรจิตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษเรื่อง "เมืองที่น่าอยู่และฉลาดในปี 2033” นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ระหว่างวันที่ 22 - 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่ามกลางแขกบุคคลสำคัญ ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานมากมาย
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้
1.เพื่อประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมืองที่นำไปสู่กลไกข้อมูลสาธารณะของการพัฒนาเมืองให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน เกิดการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนความเจริญของเมืองอย่างยั่งยืน
2.เพื่อแสดงผลงานของเครือข่ายพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City Aliance) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับ Start Up จาก Depa และเครือข่าย อปท. มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE)
3.เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานทางวิชาการของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเมือง ศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย 7 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 3. ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4. ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 5. ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) 6. ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) และ 7. ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
ซึ่งการจัดประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 - 2580) โดยหนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญคือการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนเกิดการขยายตัวมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม และพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมที่จะรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 ที่มีความพร้อมจะยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้แผนแม่บทประเด็นที่ 6 "พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นศูนย์กลางและกระจายความเจริญในทุกภูมิภาคอย่างมีระบบการบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความเป็นเมือง (Urbanization) และการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ (Emerging Technology) ภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด "Livable and Smart City Alliance" ถูกหารือและพัฒนาขึ้นเพื่อวางแนวทางร่วมนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
หน่วย บพท. จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งรัดกลไกการวิจัย เพื่อจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่เข้ามาส่งผลให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมืองจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนของเมือง (Investment) หากเมืองเกิดการลงทุนอย่างถูกต้อง จะนำมาซึ่งโอกาสที่มากขึ้นและความเสี่ยงที่น้อยลงของเมือง จนนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ในที่สุด โดยกระบวนการที่จะนำไปสู่เมืองน่าอยู่คือการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด (Smart City) โดยการใช้ข้อมูลและความรู้ (Data Driven Society) เพื่อช่วยให้เมืองตัดสินใจได้เร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทางหน่วย บพท. ร่วมกับกลไกเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City Alliance) ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ อาทิสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อธิการบดีมหาวิทยาลัย และตัวแทนอธิการบดีจากทั่วทุกภูมิภาค และภาคประชาชน จึงได้กำหนดจัดงาน การประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง และการประชุมวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 - 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการบริหารจัดการเมืองที่มีความสามารถทางการแข่งขัน เกิดระบบการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการเติบโตของเมือง