อาหารไทยถือเป็น Soft Power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศ อีกทั้งยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทั้งในการสร้างมูลค่าของวัตถุดิบสินค้าเกษตร การส่งออก หรือแม้แต่ด้านการท่องเที่ยว เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติด 1 ใน 5 อันดับของไทย และครองใจนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยความน่ารักและรอยยิ้มของผู้คนในพื้นที่ ความสวยงามของธรรมชาติ บรรยากาศการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เร่งรีบ วัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ รวมไปถึงวัฒนธรรมอาหาร ที่มีความอร่อยและเป็นเอกลักษณ์ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นจุดขายและกลายเป็นตัวนำด้านการท่องเที่ยว (Gastronomy Tourism) จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบว่าธุรกิจอาหารสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และอยู่รอดได้ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารออนไลน์ ทำให้ผู้คนหลากหลายอาชีพที่ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง ธุรกิจล้มละลาย มีโอกาสในการสร้างอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้าอาหารออนไลน์มากขึ้น หัวใจหลักของธุรกิจอาหารคือความสะอาดและความปลอดภัย ไม่ใช่แค่ความอร่อยหรือหน้าตาอาหารที่สวยงามเพียงอย่างเดียว ดังนั้นธุรกิจอาหารควรได้รับการสนับสนุนและยกระดับการให้บริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตามหลักการสุขาภิบาลอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจถึงความปลอดภัยจากอาหารพื้นเมืองเชียงใหม่ทุกร้าน โดยที่ผู้ขายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารต้องได้รับการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารจากหน่วยงานจัดอบรมที่กรมอนามัยได้กำหนดไว้ กิจกรรม “เจียงใหม่ ฟู้ดไฮ ฟู้ดเฟส” ณ ลานน้ำพุชมดอย ศูนย์การค้าเซ้นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จัดขึ้นโดย ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานบริการวิชาการภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หลักการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้สัมผัสอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร สามารถให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 โครงการดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการช่วยกันยกระดับการให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยมีกิจกรรมภายในงาน อาทิ กิจกรรมเสวนา “ท่องเที่ยวปลอดภัยอุ่นใจ ด้วยการสุขาภิบาลอาหารที่ยั่งยืน” จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ นักวิชาการสาธารณสุข รวมไปถึงคณะดำเนินการ เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์บอกเล่าถึงแนวทางและความสำเร็จในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารที่นำไปสู่การยกระดับการให้บริการและมาตรฐานอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย พิธีมอบป้ายสัญลักษณ์มาตรฐานอาหารสะอาดปลอดภัย (Clean Food Good Taste) แก่ร้านค้าที่ผ่านการประเมินความปลอดภัยมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร “สถานที่จำหน่ายอาหาร” อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จำนวนกว่า และมาตรฐานอาหารสะอาดปลอดภัย ระดับดีมาก (Clean Food Good Taste Plus) กิจกรรมฟู้ดไฮ ฟู้ดเฟส การออกบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมนี้จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการขับเคลื่อนของศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อ “ยกระดับ พัฒนา ความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว”