TCEB เปิดเส้นทางชากาแฟเชียงราย กระตุ้นการประชุมสัมมนา ดึงเครือข่าย MICE ร่วมสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับ สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดกิจกรรม Fam Trip เปิดเส้นทางการกิจกรรม MICE สร้างสรรค์: ชากาแฟ ดอยช้าง ดอยแม่สลอง ดอยตุง 3 แหล่งปลูกและผลิตชากาแฟคุณภาพดีของจังหวัดเชียงราย เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรม MICE ด้านประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน ภายใต้โครงการ World tea and Coffee Expo พร้อมดึงเครือข่าย MICE ทั่วไทย ร่วมสัมผัสประสบการณ์และสร้างเครือข่ายเมืองแห่ง ชากาแฟของประเทศไทย นางจุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้จัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์เส้นทางไมซ์สร้างสรรค์ เพื่อการประชุม สัมมนา ศึกษาดูงานแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดกิจกรรมสัมผัสประสบการณ์ FAM TRIP เส้นทางชากาแฟ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 9 – 12 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน World Tea and Coffee Expo โดยมีเครือข่าย MICE ทั่วไทย ประกอบไปด้วย สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช และชมรมภาคีท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ที่รับคณะประชุม สัมมนา และเดินทางเพื่อเป็นรางวัล เช่น บริษัท คัลเลอร์ฟูล ทราเวล จำกัด บริษัทสมาร์ท ทราเวล จำกัด บริษัท เจอร์นีย์ ทู เอเชีย จำกัด บริษัท อินสปิริต ฮอลิเดย์ จำกัด และ บริษัท ฟรายเดย์ ทริป จำกัด นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดัง เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมกันผนึกกำลังในการประชาสัมพันธ์เส้นทางกิจกรรมไมซ์แบบสร้างสรรค์ด้านชากาแฟของจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กิจกรรมภายใต้โครงการ World Tea and Coffee Expo มุ่งสร้างความเข้าใจและความตระหนักในการที่จะร่วมมือกันทำงานทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันให้ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวด้านชา-กาแฟของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชา-กาแฟในประเทศไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ประกอบการ โดยตามศักยภาพธุรกิจชากาแฟสามารถขยายผลไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านกิจรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบเช่นงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การประชุมวิชาการ/วิชาชีพ และการศึกษาดูงาน เพื่อใช้กิจกรรมไมซ์เป็นช่องทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยที่ผ่านมา ทีเส็บได้มีการจัดทำแผนแม่บทร่วมกับจังหวัดเชียงราย ที่ครอบคลุมการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายชาและกาแฟของประเทศไทย และแผนที่นำทาง (roadmap) เพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมชาและกาแฟของจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย สำหรับกิจกรรม FAM trip เส้นทางไมซ์สร้างสรรค์ชากาแฟ จังหวัดเชียงรายครั้งนี้ ตอกย้ำความพร้อมของจังหวัดเชียงราย ในฐานะแหล่งผลิตชากาแฟที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะแหล่งผลิตชั้นนำอย่าง ดอยช้าง ดอยแม่สลอง และดอยตุง ที่นอกจากจะผลิตชากาแฟรสเลิศแล้ว ยังมีความสวยงามตามธรรมชาติจึงถือเป็นเส้นทางกิจกรรมที่สามารถดึงดูดนักเดินทางจำนวนมากในแต่ละปี และเป็นอีกหนึ่งเส้นทางตัวอย่างเส้นทางกิจกรรมไมซ์ยอดนิยมของภาคเหนือสมกับคำที่ว่า ขึ้นเหนือที่เดียว ครบทั้งเที่ยวทั้งประชุม และในอนาคต สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ยังมีการดำเนินโครงการ พัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชนด้านชาและกาแฟในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ และขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมชากาแฟไปยังภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งปลูกกาแฟของประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมชา กาแฟของประเทศไทย และภาคเหนือได้คงความเป็นเลิศในธุรกิจในระดับสากลได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ทั้งนี้ พืชชาและกาแฟมีการปลูกอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัดของภาคเหนือตอนบน มีปริมาณการผลิต คุณภาพ และศักยภาพ ที่สามารถยกระดับเป็นให้ฐานเศรษฐกิจมูลค่าสูง และส่งเสริมเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวด้านชาและกาแฟของภูมิภาคอาเซียนได้ ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงสนองยุทธศาสตร์รัฐบาลด้านการพัฒนาพื้นที่ มุ่งใช้กิจกรรม MICE เป็นเวทีในการพัฒนา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดอุตสาหกรรมชา กาแฟแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ ยกระดับศักยภาพเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชา-กาแฟ ขยายการรับรู้ระดับประเทศและต่างประเทศในรูปแบบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อการแสดงสินค้าที่มีประสิทธิภาพ สร้างฐานการจัดงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วม และ สร้างเครือข่ายทางวิชาการและทางธุรกิจผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และงานประชุมวิชาการ ขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ตลาดสากลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจ สร้างมูลค่าการค้าขายชา-กาแฟ โดยมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติอีกด้วย