เตือนชาวเลย เตรียมรับมือ น้ำป่าดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้เข้าช่วงฤดูฝนแล้ว ในพื้นที่จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ ที่จะต้องเฝ้าระวังในเรื่องพื้นที่เสี่ยง น้ำป่า ดินโคลนถล่ม ที่อาจะเกิดขึ้นได้ ในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ ภูเขาสูงชัน อย่าง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้ายและอำเภอที่เป็นแนวร่องแม่น้ำที่จะไหลลงแม่น้ำโขง
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนที่มีบ้านเรือนตามเชิงเขาหากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน หรือหลายหลายชั่วโมง ก็ขอให้ระมัดระวัง เนื่องจากว่าจะเกิดดินที่อาจจะสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้ กรณีที่ฝนตกหนักก็ต้องระมัดระวังตัว อย่างไรก็ตามทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย อำเภอและท้องถิ่น จะมีการแจ้งเตือนเป็นระยะ เพราะฉะนั้นก็ฝากไปถึงพี่น้องประชาชนว่าหากมีฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็ควรจะตื่นตัว อย่างไรก็ตามเราจะแจ้งเตือนเป็นระยะซึ่งจังหวัดเลย ไม่มีพื้นที่ ที่น่ากังวลมากนัก เพียงแต่ว่าเราจะต้องมีการเตรียมตัวไว้ก่อนเพื่อเตรียมรับมือกับฝนที่จะตกหนัก
สำหรับพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดเลยจากประวัติของปีที่ผ่านๆมา ที่อำเภอปากชมที่อำเภอด่านซ้ายหมู่บ้านใดที่อยู่เชิงเขาก็ถือว่าเป็นจุดเสี่ยง ก็ไม่ได้มีเยอะแต่เป็นพื้นที่ ที่จะอยู่ริมเขาลาดชันโดยเฉพาะอำเภอด่านซ้าย หากมีบ้านที่อยู่เชิงเขา อำเภอปากชม บ้านที่อยู่ระหว่างภูเขากับแม่น้ำโขง พอฝนตกลงมาน้ำก็ถูกระบายมา ยังน้ำโขงสิ่งที่ควรจะระมัดระวังก็คือบ้านที่อยู่บริเวณนั้น
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย สรุปการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดเลย
ลักษณะทั่วไป ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเลยโดยทั่วไป ร้อยละ 80 จะเป็นภูเขาสูงและภูเขาล้อมรอบ และประมาณ 20 % เป็นพื้นที่ราบ โดยมีตัวเมืองอยู่ตรงกลางลักษณะคล้ายกับก้นกระทะ สามารถแบ่งภูมิประเทศ ได้ 3 เขต 1) เขตพื้นที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ได้แก่พื้นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำเลย และลุ่มแม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองเลย เชียงคาน วังสะพุง และอำเภอหนองหิน 2) เขตพื้นที่ภูเขา จะอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด ได้แก่ อำเภอนาแห้ว ภูเรือ ด่านซ้าย ท่าลี่ และทิศใต้ของจังหวัดเลยโดยมีพื้นที่บางส่วนของอำเภอภูหลวง ภูกระดึง การคมนาคมไม่ค่อยสะดวก และมีประชาชนอาศัยอยู่เบาบาง 3) เขตพื้นที่ราบเชิงเขา อยู่บริเวณทางทิศใต้หรือทิศตะวันออกของจังหวัด ได้แก่ อำเภอภูกระดึง ภูหลวงบางส่วน นาด้วง ปากชม และอำเภอผาขาว เป็นเขตพื้นที่ไม่มีภูเขาสูงมาก มีประชากรอยู่หนาแน่นปานกลาง
จังหวัดเลยมีพื้นที่ลุ่มน้ำที่สำคัญ 5 ลุ่มน้ำได้แก่ 1) ลุ่มน้ำเลย 2) ลุ่มน้ำเฮือง 3) ลุ่มน้ำโขง 4) ลุ่มน้ำพอง 5) ลุ่มน้ำป่าสัก
ปัจจุบัน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลยได้ดำเนินการแล้วดังนี้ เช่น จัดทำแผนเผชิญเหตุ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดเลย ประจำปี 2563 มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดเลย ประจำปี 2563 แจ้งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุของจังหวัดโดยมอบหมายในการควบคุม กำกับ สั่งการ ตามแผนเผชิญเหตุ ตามลำดับความรุนแรงของสาธารณภัย ซึ่ง แบ่งออกเป็น 4 ระดับดังนี้ ความรุนแรงระดับ 1 สาธารณภัยขนาดเล็ก อยู่ในอำนาจควบคุมและสั่งการของผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น ความรุนแรงระดับ 2 สาธารณภัยขนาดกลาง อยู่ในอำนาจควบคุมและสั่งการของผู้อำนวยการจังหวัด ความรุนแรงระดับ 3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ อยู่ในอำนาจควบคุมและสั่งการของผู้บัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ความรุนแรงระดับ 4 สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง อยู่ในอำนาจควบคุมและสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย
สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดเลย แต่ละอำเภอ อำเภอเมืองเลย จำนวน 9 ตำบล 47 หมู่บ้าน 6 ชุมชน อำเภอนาด้วง จำนวน 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน อำเภอเชียงคาน จำนวน 6 ตำบล 35 หมู่บ้าน อำเภอปากชม จำนวน 5 ตำบล 17 หมู่บ้าน อำเภอด่านซ้าย จำนวน 8 ตำบล 21 หมู่บ้าน อำเภอภูเรือ จำนวน 6 ตำบล 33 หมู่บ้าน อำเภอท่าลี่ จำนวน 6 ตำบล 14 หมู่บ้าน อำเภอวังสะพุง จำนวน 6 ตำบล 16 หมู่บ้านอำเภอภูกระดึง จำนวน 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน อำเภอภูหลวง จำนวน 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน อำเภอผาขาว จำนวน 5 ตำบล 13 หมู่บ้าน อำเภอเอราวัณ จำนวน 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน อำเภอหนองหิน จำนวน 3 ตำบล 18 หมู่บ้าน อำเภอนาแห้ว จำนวน 5 ตำบล 33 หมู่บ้าน รวม 14 อำเภอ จำนวน 70 ตำบล 281 หมู่บ้าน 6 ชุมชน
การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แจ้งให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการดังนี้
1. จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
2. ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำรวมทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มักเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่
3. ประเมินความเสี่ยงภัยจากอุทกภัย และดินโคลนถล่ม หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุทกภัยแล้วรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัด ทราบ
สำหรับการเผชิญเหตุนั้น เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่ให้ยึดแนวทางการจัดการ สาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดเลย ประจำปี 2563 โดยให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการและมอบหมายให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล ศาสนสถาน