สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการฉายรังสีเพื่อถนอมอาหารพื้นถิ่น ฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดอุดรธานี สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อเพิ่มมูลค่า ต่อยอดเชิงพาณิชย์ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยว่า อาหารไทย โดยเฉพาะอาหารพื้นถิ่น นอกจากจะมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะหาชาติใดเหมือนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอด จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่ ยังมีผลิตภัณฑ์อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากยังขาด “เทคโนโลยี” ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานในการผลิต สทน. จึงได้จัดทำโครงการการสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการฉายรังสีเพื่อถนอมอาหารพื้นถิ่น ขึ้น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถผลิตสินค้าและต่อยอดได้ โดยที่ผ่านมา สทน. ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ด้านการฉายรังสีอาหาร ลงไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME มาแล้วในทุกภูมิภาค รวม 4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้ง ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีการฉายรังสีมากขึ้น ด้าน ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานี มีภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นของชาวภูไทที่เป็นเสน่ห์ และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมต่อยอดสู่การสร้างอาชีพหลักและอาชีพเสริม เช่น แจ่วบอง ปลาร้า แกงหวาย ต้มซั้วไก่ ฯลฯ ดังนั้น การนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการฉายรังสี มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งนำองค์ความรู้และนวัตกรรมถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ จากภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพความปลอดภัย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป สำหรับการจัดกิจกรรม การสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการฉายรังสีเพื่อถนอมอาหารพื้นถิ่น ที่ มรภ.อุดรธานี ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารฉายรังสีให้กับผู้ประกอบการ โดยทั้งสองหน่วยงานจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้ และการเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมประกวด Product Champion โดย สทน.คาดหวังว่าจังหวัดอุดรธานีจะมีผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นฉายรังสีที่ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป