ศปบ.จชต.พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก จชต.
ผลการดำเนินงานการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต) ทำให้ทราบถึงพัฒนาการการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ที่ประสบผลสำเร็จและก้าวหน้าตามลำดับ อันเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีการระดมทรัพยากรในการพัฒนาร่วมกัน อย่างมีเป้าหมายที่ระบุไว้ชัดเจน ภายใต้วิสัยทัศน์ “การยกระดับการใช้ภาษาไทยให้มีคุณภาพ มุ่งเน้นการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน และใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ตั้งแต่ก่อนระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป เพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข” มีการกำกับติดตามความสำเร็จ เป็นห้วงๆ โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีมาตรฐาน จากสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นทิศทางในการทำงาน โดยมีแผนจะลดจำนวนนักเรียนระดับปรับปรุง ดังนี้
ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๑ นักเรียนชั้น ป.๑ - ๓ จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง
ไม่เกินร้อยละ ๕๐
ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๒ นักเรียนชั้น ป.๑ - ๓ จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง
ไม่เกินร้อยละ ๓๐
ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๓ นักเรียนชั้น ป.๑ - ๓ จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง
ไม่เกินร้อยละ ๑๐
และในปีการศึกษา ๒๕๖๔ จะต้องไม่มีนักเรียนระดับปรับปรุงในพื้นที่
การติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และการให้ความสำคัญ เน้นพิเศษในการพัฒนาคุณภาพในพื้นที่แบบบูรณาการ ส่งผลให้การสอบวัดความสามารถทักษะด้านภาษาไทยสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทุกด้าน โดยผลการสอบครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ มีนักเรียนระดับปรับปรุงลดลงเหลือเพียง ๙.๔๙ โดยแยกเป็นด้าน ด้านการอ่านออกเสียง ร้อยละ ๘.๘๗ ด้านการอ่านรู้เรื่อง ร้อยละ ๗.๘๓ ด้านการเขียนคำ ร้อยละ ๑๘.๕๖ ด้านการเขียนเรื่อง ร้อยละ ๑๒.๘๓ ด้านการฟัง ร้อยละ ๔.๒๔ และด้านการพูด ร้อยละ ๔.๖๑ ซึ่งเป้าหมายวางไว้ร้อยละ ๓๐ ซึ่งแสดงว่าสามารถพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยได้ดีมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลจากการอบรมครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ อย่างจริงจัง ส่งผลให้ครูมีทักษะการสอน และวิธีการสอนที่ทันสมัยตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการ PLC และกิจกรรม BBL มีการใช้สื่อนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมชั้นเรียนและห้องสมุดที่มีคุณภาพ นักเรียน สถานศึกษา และชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้ภาษาไทยได้ดี มีคุณภาพตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาในพื้นที่ สอดรับกับการกำหนดให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และจังหวัดสตูล เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรมและนับเป็นความก้าวหน้าด้านการพัฒนาภาษาไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้