ประชุมธุรกิจไทย มาเลฯ อินโดฯ ยกระดับการค้าสามประเทศ เลขาฯ ศอ.บต.พร้อมดันสนามบินนราธิวาส สู่สนามบินนานาชาติ รองรับโครงข่ายขนส่งสินค้าชายแดน สมาคมนักธุรกิจมุสลิมนราธิวาส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Digital Business and Trade Exhibition in Southern Thailand: Date in South) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีการแสดงและจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการจากผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และมาเลเซีย ที่สนามกีฬามหาราช อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส นอกจากนี้ภายในงานมีการประชุม Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle: IMT-GT หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่โรงแรมเก็นติ้ง ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม 80 คน และมีตัวแทนจากทางการของทั้งสามประเทศ ได้แก่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตัวแทนประเทศไทย, ดาโต๊ะ เฟาซี นาอีม ประธานสภาหอการค้า มาเลเซีย และนายเอ็ดดี้ วีร์โก้ ตัวแทนอินโดนีเซีย การประชุมครั้งนี้ทั้งสามฝ่ายได้พูดคุยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งทางมาเลเซียได้นำเสนอโครงการ East Coast Rail Line (ECRL) ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของมาเลเซีย เพื่อเชื่อมการขนส่งกับประเทศไทย ส่งขนส่งสินค้าที่สะดวกขึ้น ส่วนทางอินโดนีเซียได้เน้นย้ำถึงการสร้างแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอโครงการก่อสร้างสนามบินเบตงที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และพร้อมเปิดให้บริการในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ เป็นสนามบินที่พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าชายแดนชายได้อีกทางหนึ่ง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า การประชุม IMT-GT เป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างอินโดนีเซีย มาลเซีย และไทย ในกรอบของ IMT-GT ซึ่ง IMT-GT มีหลายระดับ คือระดับการประชุมสุดยอดประเทศและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ระดับสภาพัฒน์ของแต่ละประเทศ ระดับพื้นที่จังหวัดและระดับมุขมนตรีต่างๆ ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมในส่วนของศูนย์ประสานงาน IMT-GT โดยมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยมาร่วมหารือกัน มาร่วมส่งเสริมในด้านมิติการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการค้าชายแดน ธุรกิจฮาลาล และธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งผลการประชุมได้เกิดประโยชน์อย่างมาก เราพูดคุยประเด็นเล็กๆแต่มีความสำคัญ เช่นประเด็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียด้วยการขายออนไลน์ แต่มีปัจจัยบางอย่างติดขัดเรื่องมาตรฐานการรับรองสินค้า ทำให้ติดขัดในเรื่องการนำเข้าส่งออกระหว่างกัน ซึ่งได้ตกลงว่าจะตั้งศูนย์กลางข้อมูลระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ เช่นข้อมูลนักท่องเที่ยวผ่านเขตแดนเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวต่อไป มีสินค้าผ่านแดนในแต่เดือนและแต่ละปีมากน้อยแค่ไหน เราต้องมีเครือข่ายการขนส่งคมนาคม ซึ่งประเทศมาเลเซียมีสนามบินนานาชาติโกตาบารู รัฐกลันตัน ไทยเราจะทำอย่างไรกับสนามบินนราธิวาส เราจะสร้างโครงข่ายการคมนาคม เราจะหารือกับสายการบินต่างๆ ให้เปิดเที่ยวบินที่โกตาบารูและนราธิวาสในการประชุมครั้งต่อไป เน้นย้ำว่าการประชุมครั้งนี้เกิดประโยชน์หลายด้านๆพล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพใหญ่เราอยู่ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ แต่ในกลุ่มเล็ก เราอยู่ในกลุ่ม IMT ที่ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย หากย่อยลงมาอีกก็จะมีทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ซึ่งเราได้นำภาพใหญ่ของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ได้หารือกัน มาคุยกันในทางปฏิบัติจริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการจะเป็นผู้ขับเคลื่อนพัฒนาอย่างแท้จริง ผลการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก ผู้ประกอบการจากไทยจะไปพูดคุยจับคู่ธุรกิจกัน ภาครัฐจะเติมเต็มบางเรื่องที่ค้างคาอยู่เพื่อให้การค้าระหว่างกันส่งผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด และมองว่านักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าชายแดน 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก หากเรามีการยกระดับการค้าชายแดนให้สูงขึ้น มีการร่วมมือกันมากขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ประชาชนในพื้นที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และเป้าหมายใหญ่ของเราคือ 3 ประเทศต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน