ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวแอปพลิเคชัน ระบบตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล (HAL-Click) ที่ห้องประชุมชั้น 3 TK Park Pattani อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สำนักงานปัตตานี พร้อมด้วย นายแพทย์อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และนายดำรง กุกุทพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ร่วมแถลงข่าวการเปิดตัวเว็บแอปพลิเคชัน HAL-Click ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล ได้พัฒนาจนสำเร็จโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ปัจจุบันนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลที่วางระบบ HAL-Q แล้วจำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2541 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มแนวคิดในการพัฒนาระบบ HAL-Q ซึ่งระบบ HAL-Q ย่อมาจากคำว่า Halal Assurance and Liability Quality System ที่หมายถึง ระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ (Quality System) เพื่อรับประกัน (Assurance) และรับผิดชอบ (Liability) ต่อสภาพฮาลาล (Halal) ของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยบูรณาการมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามเข้ากับระบบความปลอดภัยทางด้านอาหารตามมาตรฐานสากล (Food Safety) ด้วยการกำจัดและจำกัดสิ่งอันตรายทั้ง 4 ด้านให้ออกไปจากกระบวนการผลิตอาหาร คือ อันตรายทางกายภาพ อันตรายทางเคมี อันตรายทางชีวภาพ และอันตรายทางด้านหะรอม ในปี 2554 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ได้จัดทำระบบบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล-ปลอดภัย หรือระบบ HAL-Q และวางระบบการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล จำนวน 40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ ผลลัพธ์ ที่ตามมา เมื่อวางระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ โรงพยาบาลยังประสบปัญหาการเข้าถึงเอกสารที่ยุ่งยากและเสียเวลาในการค้นหาเอกสาร รวมถึงแบบฟอร์มในการตรวจติดตามการดำเนินงานที่มีปริมาณมาก ทำให้เกิดความยุ่งยากและสับสนในการตรวจติดตามและรายงานผล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า HAL-Click เว็บแอปพลิเคชันตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลขึ้น เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาระบบการบริหารจัดการฮาลาลเพื่อให้ผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีความเชื่อมั่นต่ออาหารที่รับประทานนั้นถูกต้องตามหลักสุขอนามัย หลักโภชนาการ และหลักศาสนบัญญัติอิสลาม รวมทั้งได้อาหารที่สะอาด และปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ตามสโลแกนที่ว่า HAL-Click คลิกเพื่อคุณภาพฮาลาล ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สำนักงานปัตตานี กล่าวว่า เราต้องการอาหารฮาลาล ซึ่งทุกคนก็เข้าใจในเรื่องนี้ แต่เมื่อเราจะจัดระบบให้เป็นการตรวจสอบได้ ก็เลยออกแบบในเรื่อง HAL-Q แปลว่า Halal Quality เมื่อระบบนี้ถูกวางในโรงพยาบาลแล้ว เราก็จะมีคณะทำงานเข้าไปวางระบบ และติดตาม เพื่อที่จะให้คงอยู่ต่อไป กระบวนการตรงนี้จะต้องมีการใช้เอกสารจำนวนหนึ่ง ซึ่งคล้ายๆ กับระบบ QC ซึ่งจะต้องมีเอกสารมากมาย ก็เลยคิดว่าจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กับคณะทำงานที่โรงพยาบาล เพื่อให้ HAL-Q นั้นคงอยู่ เพราะฉะนั้นภารกิจก็จะเบาลง จึงต้องใช่ระบบของเทคโนโลยีเข้ามา กลายเป็น HAL-Click ซึ่งเป็นการวางมาตรการให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การผลิตอาหาร ฮาลาลในโรงพยาบาลมีระบบรองรับอยู่ ซึ่งเวลาที่มีการไปวางระบบ จะไปด้วยกัน 2 ฝ่ายคือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กับ นักวิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปวางระบบด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การรับรองฮาลาล ซึ่งการรับรองฮาลาลตรงนี้ เราใช้หลักศาสนา ส่วนตัว HAL-Q ใช้หลักวิทยาศาสตร์ 2 ฝ่ายทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ทั้ง 2 แบบ และแอปพลิเคชัน ตัวนี้ จะทำให้บุคลากรตรวจสอบได้ว่า หลังจากมีการวางระบบแล้ว การทำงานจะเป็นไปตามกระบวนการหรือป่าว ซึ่งจะพบว่าในโรงานทั่วไป ถ้าเกิดผู้ทำงานไม่ซื่อสัตย์ หรือไม่เคร่งครัด อาจจะมีการปนเปื้อน ซึ่งจะมีอยู่ 2 ความหมาย คือ คือ ปนเปื้อน หรือ ปลอมปน ถ้าปนเปื้อนอาจจะเกิดจากไม่เจตนา แต่ถ้าปลอมปน ก็คือ เจตนาใส่เข้าไป ยกตัวอย่างที่เราได้ยินข่าวเรื่อง ลูกชิ้นเนื้อ มีหมูเข้าไปปนเปื้อน อันนั้นอาจจะปนเปื้อนเพราะขบวนการผลิตไม่ดี แต่ถ้าเกิดมีการปลอมปน ที่เป็นเรื่องของราคา ในขณะที่เนื้อราคาแพง แต่หมูราคาถูก แต่ต้องการขายลูกชิ้นเนื้อ ก็อาจผสมเนื้อหมูเข้าไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนบริโภคถ้าไม่สังเกตก็อาจจะไม่รู้ ว่ามีการปนเปื้อน ซึ่งจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบโดยการตรวจ DNA แต่ก็น่าดีใจในวันนี้เรามีเครื่องมือในการตรวจสอบ ที่ทำงานได้ดีมาก การตรวจสอบก็ไม่ยากเกินไป และนำไปจำหน่ายในตลาดต่อไป ด้านนางนิตยา กิจชอบ นักโภชนาการชำนาญการ โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กล่าวว่า ระบบ HAL-Click จะช่วยให้ประชาชนที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีความเชื่อมั่นในอาหารของโรงพยาบาล และการบริการที่รวดเร็วขึ้น ในส่วนของโรงพยาบาลยี่งอฯ ก็จะเป็นระบบ Smart Hospital อยู่แล้ว เราก็จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้กับกิจกรรมของโรงพยาบาล ในส่วนของระบบ HAL-Click ก็เป็นระบบที่ใช้โปรแกรมต่าง ๆ ในการเก็บเอกสาร หรือในการค้นหา เนื้อหาในการผลิตอาหารฮาลาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้บันทึกผลการปฏิบัติงาน อยู่ในระบบ รวมถึงการติดตามการดำเนินงานให้อยู่ในระบบ และลดค่าใช้จ่ายในการใช้กระดาษและลดเวลาในการบันทึก ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคต ทุกโรงพยาบาลควรนำระบบ HAL-Click มาใช้ เพราะมีความสำคัญอย่างมาก ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะโรงพยาบาลขณะนี้เป็น Smart Hospital ส่วนใหญ่ เพื่อลดขั้นตอนในการทำงานมากขึ้น จะทำให้มีเวลาในการดูแลคนไข้มากขึ้น แทนที่จะมานั่งจดบันทึกดังกล่าว