ครูใต้ ยืนเคียงข้างครู รวมใจยกมือโหวตหนุนสมาพันธ์ครูฯ เร่งช่วยเหลือเร่งรัด ติดตาม ค่าสวัสดิการและสวัสดิภาพครูจังหวัดชายแดนใต้ ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านบาละ อ.กาบัง จ.ยะลา นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นางสุขะมุกข์ เรืองอ่อน ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดสงขลา นายสุพล วาสแสดง ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส นายสมพงษ์ ปานเกล้า ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลา และ คณะกรรมการสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 100 คน ร่วมประชุมสมาพันธ์ครูฯสัญจร ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้า และลงมติในประเด็นสำคัญๆ ในการช่วยเหลือครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยมีอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ 1 การติดตามความคืบหน้าในการยื่นข้อเสนอของสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้เสนอให้คงไว้ซึ่งหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อ.เทพา อ.นาทวี อ.จะนะ และ อ.สะบ้าย้อย มีวิทยฐานะชำนาญการ และมีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ว.10) เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่ยากลำบากและเสี่ยงภัย 2 การติดตามความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาแกทายาทผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รายละ 4 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทายาทที่ได้รับเงินเยียวยาเพียง 14 รายเท่านั้น และยังมีทายาท อีก 168 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งทางสมาพันธ์ฯยังคงต้องติดตามต่อไป และ 3 การนำเสนอข้อมูลของครูพี่เลี้ยงเด็กพิการในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งยังไม่ได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ.) รายละ 1,000 บาท ตั่งแต่ปี 2556 ส่งผลต่อสิทธิด้านสวัสดิการของครูพี่เลี้ยงเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มากว่า 100 ราย โดยในที่ประชุมได้ให้มีการลงมติของคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ เพื่อให้ขับเคลื่อนงานดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมประชุมต่างพร้อมใจยกมือโหวตลงมติอย่างเอกฉันท์ สนับสนุนการทำงานของสามพันธ์ครูจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีขึ้น ด้านนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า มติในที่ประชุมในครั้งนี้ มีมติให้สามพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนในการติดตาม ข้อเสนอให้คงไว้ซึ่งหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ มี วิทยฐานะชำนาญการ และมีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ว.10) ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ ได้ยื่นเรื่องนี้ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 หลังจากนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก.ค.ศ. ลงมาประสานหาข้อมูล เพื่อยืดเวลา และให้คงอยู่ ว.10 ต่อไป เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลสรุปแต่อย่างใด ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ จะขอเข้าพบเลขาธิการ ก.ค.ศ. เพื่อข้อรายละเอียด นำมาชี้แจงต่อพี่น้องเพื่อนครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า ในวันนี้ทางก.ค.ศ. คิดอย่างไร แต่ก็ขอขอบพระคุณล่วงหน้า ถ้าผลออกมา ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการทำงานในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีครูที่ไหนที่เสียชีวิตมากเท่ากับครูที่นี้ เสียชีวิตถึง 182 ราย ทุกพลภาพ 11 ราย และบาดเจ็บ 162 ราย ซึ่งทางสมาพันธ์ครูจะเดินทางเข้าพบผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 2 มิถุนายน นี้ เรื่องที่ 2 การติดตามความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาแกทายาทผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รายละ 4 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทายาทกว่า 160 ราย ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ทางกระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวทาง มีมาตรการอย่างไรในการเยียวยาให้กับทายาทโดยเร็ว ให้ชัดเจนในเรื่องของระยะเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุกพลภาพ ในขณะนี้มติครม.ไม่ได้พูดถึง ซึ่งทางสมาพันธ์ฯจะได้เร่งติดตามว่าในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน ก็ขออยากจะฝากให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยติดตามให้อีกทาง เรื่องที่ 3 ทางสมาพันธ์ฯได้รับข้อร้องเรียนจากลุ่มครูพี่เลี้ยงเด็กพิการในจังหวัดชายแดนใต้ กรณีที่ไม่ได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ.) รายละ 1,000 บาท ตั่งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูล พบว่า เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งสามารถจ่ายได้ แต่เขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่ง ไม่มีการจ่ายเงินส่วนตรงนี้ ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงในกลุ่มพี่เลี้ยงเด็กพิการที่ต้องทราบว่า ทำไมตัวเองถึงไม่ได้รับเงินส่วนตรงนี้ ซึ้งเป็นสิทธิที่ได้รับการระบุไว้ว่า เป็นเงินสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ.) ซึ่งทางสมาพันธ์อยากรู้คำตอบ เพราะมีการโอนงบประมาณลงมาทุกปี แต่งบประมาณส่วนนี้อยู่ตรงไหน เพื่อให้ครูในพื้นที่ได้หายเคลือบแคลงใจ และเรื่องสุดท้าย มีกลุ่มครูกลุ่มหนึ่ง ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินเสี่ยงภัย คือกลุ่มครูธุรการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจ้างเหมาบริการก็ตาม แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่พิเศษ ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เพราะอย่างไรก็ไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สงบลงแล้ว ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นก็ตาม ก็ขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดพิจารณาปรับหลักเกณฑ์วิธีการ ให้ครูเหล่านี้ให้ได้รับเงินเสี่ยงภัย 2,500 บาท เท่ากับครูท่านอื่น ๆ