เกษตรปัตตานีส่งเสริมการบริโภคทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี มุ่งอนุรักษ์สายพันธุ์ไม้ผลอัตลักษณ์พื้นถิ่น
วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เวลา 07.30 น. นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี มอบหมายนายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัด ดำเนินการจัดงานประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดปัตตานี ปี 2565 ณ ตลาดเกษตรกร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ผศ.ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดปัตตานีมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 4,500 ครัวเรือน ปลูกทุเรียนสายพันธุ์ดีและทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง สร้างรายได้แก่เกษตรกรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก การจัดประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดปัตตานีในครั้งนี้ ดำเนินการขึ้นภายใต้นโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่นให้คงอยู่และสามารถขยายผลไปสู่การสร้างมูลค่าสร้างอาชีพสร้างรายได้ จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้ประชาชนหันมาบริโภคและมีการปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการคัดเลือกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี รสชาติดี สำหรับใช้เป็นแม่พันธุ์และนำมาขยายพันธุ์ต่อไป
นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยเพิ่มว่า สำหรับหลักเกณฑ์การประกวด ผู้ส่งผลผลิตเข้าประกวดต้องเป็นเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดปัตตานีโดยทุเรียนที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดปัตตานีเท่านั้น แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททุเรียนพื้นเมืองเนื้อสีเหลือง และประเภททุเรียนพื้นเมืองเนื้อสีขาว ทุเรียนที่ส่งประกวดจะต้องสุกพร้อมรับประทานในวันตัดสิน มีลักษณะดีทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีโรคและแมลงทำลาย มีขนาดพอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินกว่าปกติ มีความสด และมีขั้วติดผล โดยการประกวดครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าประกวดจำนวน 103 ราย ผลการประกวด ประเภทเนื้อสีขาว รางวัลชนะเลิศ ได้เเก่ นางสาวปาซียะ มะแซ เกษตรกรอำเภอแม่ลาน รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวแยนะ ดอเลาะ เกษตรกรอำเภอแม่ลาน รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางดวงฤดี ทองบุญล้อม เกษตรกรอำเภอโคกโพธิ์ และรางวัลชมเชย ได้แก่ นายมะปายี มามะ เกษตรกรอำเภอแม่ลาน ส่วนประเภทเนื้อสีเหลือง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายแวแม กาหลง เกษตรกรอำเภอยะรัง รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายอิสมาแอล กาหม๊ะ เกษตรกรอำเภอยะรัง รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวนูรม๊ะ ดะมิ เกษตรกรอำเภอทุ่งยางแดง และรางวัลชมเชย ได้แก่ นายลาเต๊ะ บือราเฮง เกษตรกรอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งได้มีการมอบเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดอีกด้วย