วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี มอบหมายให้นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยนางสาวปาตีเมาะ คาเร็ง ลงพื้นที่เพื่อติดตามความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานตามนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตร ณ แปลงมาตรฐานการผลิตพืช GAP ของนางเฟื่องสิริ สินกิติวุฒิ Smart Farmer อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ภายในโรงเรือน ขนาด 10 x 35 เมตร เกษตรกรได้ปลูกมะเขือเทศสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์รับประทานผลสด มีการใช้เชือกขึงกับคานและจับต้นเลื้อยพันขึ้นไป เกษตรกรเตรียมวัสดุปลูกโดยใช้กาบมะพร้าวสับผสมใบก้ามปูและปุ๋ยคอกทดแทนการใช้ดิน เพื่อเพิ่มความโปร่งและลดการเกิดโรคในพืช มีการให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำแก่พืช (Fertigation) ซึ่งเป็นวิธีการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการสูญเสียจากการตกค้างในดิน พืชจะได้รับปุ๋ยในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเกือบทุกต้น ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมะเขือเทศมีอายุ 90 วัน และเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้ 3 เดือน โดยผลผลิตจะมีปริมาณสม่ำเสมอตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนสุดท้าย มีการจำหน่ายผ่านหน้าสวน ช่องทางออนไลน์ และร้านค้าฟาร์มเอาท์เลท ในราคากิโลกรัมละ 250 บาท สร้างรายได้กว่า 20,000 บาทต่อเดือน นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีมาตรฐาน มีการสนับสนุนองค์ความรู้พร้อมทั้งติดตามให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการขอเข้ารับมาตรฐาน GAP กับกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันแปลงของนางเฟื่องสิริ สินกิติวุฒิ Smart Farmer อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ได้รับรับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP สามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี