สสก.5 สงขลา ชี้แนวทางบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2563 ข้อมูลการผลิตชัดพร้อมเชื่อมโยงตลาดกระจายผลไม้คุณภาพสู่ทั่วภูมิภาค
สสก.5 สงขลา ชี้แนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 ข้อมูลการผลิตต้องชัด เชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างเหมาะสม มุ่งเป้าเกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่าทุนพร้อมบวกกำไรเพิ่มอย่างน้อย 30% ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผล และ 2) การบริหารจัดการเชิงปริมาณ ปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน โดยชี้เป้าการผลิตให้ชัดเจน จัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) และเชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิตร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาด (Demand) ตลอดจน คพจ. ปรับสมดุลข้อมูลของอุปทานและอุปสงค์และจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชิงรุก
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญของประเทศไทย ลำดับ 2 รองจากภาคตะวันออก สถานการณ์ การผลิตผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในปี 2563 พบว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 1,041,957 ไร่ แยกเป็น ทุเรียน 571,373 ไร่ มังคุด 246,258 ไร่ เงาะ 74,668 ไร่ และลองกอง 149,658 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผลผลิตแล้ว 887,852 ไร่ จำแนกเป็น ทุเรียน 437,995 ไร่ มังคุด 230,283ไร่ เงาะ 72,458 ไร่ ลองกอง 147,116 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวมทั้งสิ้น 844,003 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 5.42 (ปี 2562 ผลผลิตรวม 800,598 ตัน) จำแนกเป็นทุเรียน 588,337 ตัน มังคุด 153,208 ตัน เงาะ 50,280 ตัน ลองกอง 52,178 ตัน ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม ยกเว้นลองกองออกมากในช่วงเดือนกันยายน ปีนี้ผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 ไร่ สำหรับ มังคุด เงาะ และลองกอง ผลผลิตโดยรวมลดลง เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแล้งติดต่อกัน
พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้แล้วโดยได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 132,424 ตัน คิดเป็นร้อยละ 15.69 ของผลผลิตทั้งหมด (ที่มา : ข้อมูล warroom ณ วันที่ 3 ก.ค. 63)
นายสุพิท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมมือกับ ทุกภาคส่วนในการผลักดัน การบริหารจัดการผลไม้ โดยใช้มาตรการเชิงรุก มีการประชุมวางแผนจัดทำข้อมูล โดยการสำรวจข้อมูลการผลิตไม้ผลตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และรวบรวมเป็นข้อมูลระดับภาค ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล การคาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เพื่อจัดทำแผนรองรับ และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การขอรับรองคุณภาพ มาตรฐาน GAP โดยผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) รวมไปถึงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (ไม้ผล) และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต โดยเชื่อมโยงกับการตลาดทั้งในและต่างประเทศ หลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Covid 19) เริ่มคลี่คลาย ต้องเร่งส่งเสริมการตลาด เพื่อกระจายผลไม้คุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จะจัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. 63 ณ ศูนย์การค้าเซนทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อเนื่องด้วยการจัดงานผลไม้ข้ามถิ่น ระหว่างวันที่ 29 กค.-3 สค. 63 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และการประชาสัมพันธ์รถเร่ผลไม้ ระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค. 63 ณ จังหวัดอุดรธานี เพื่อกระจายผลผลิตผลไม้คุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ มีรสชาติอร่อย จากแหล่งผลิตในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ ไปยังผู้บริโภค ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15 ก.ค. 63 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร จัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ณ โรงแรม ลอฟท์ มาเนีย อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ในงานประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง อนาคตทุเรียนไทย จากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนครบวงจร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ การเสวนา เรื่อง แนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ จากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ การแสดงนิทรรศการทางวิชาการและผลงานของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ รวมทั้งแปลงใหญ่ทุเรียนของจังหวัดชุมพร และการออกบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนทุเรียนจากภาคเอกชนรวมถึงกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภาคใต้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมการสัมมนาจาก 14 จังหวัดภาคใต้ รวมจำนวน 400 คน