กรมส่งเสริมการเกษตร หนุน“การเลี้ยงผึ้งไล่ช้าง” ผลักดันศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาเกษตรเชิงพื้นที่


นานนับสิบปีมาแล้ว ที่ข่าวโขลงช้างป่าพากันยกพลออกจากป่า เข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก เช่น ช้างบุกสวนทุเรียน โค่นต้น แล้วกัดกินเสียหายนับแสนบาท ช้างป่าบุกสวนกล้วย บุกไร่สับปะรด ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ พังบ้าน ทุบรถ เพื่อหาของกิน พังคลังเก็บทุเรียน แม้กระทั่งการขวางถนนเพื่อหยุดรถบรรทุกสินค้าการเกษตร เช่น กล้วย อ้อย สับปะรด แตงโม มะละกอ ทุเรียน แล้วเอางวงล้วงเอาไปกิน สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกร จนในที่สุดก็มักจะลงเอยด้วยการฆ่าช้างป่าตาย ถูกยิงบ้าง ไม่ก็ถูกไฟฟ้าช็อต หรือถูกวางยา
จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญของภาคใต้ ไม้ผลที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด พื้นที่ทำการเกษตรในอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี และอำเภอทุ่งตะโก มีพื้นที่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว พบปัญหาฝูงช้างป่าเข้าทำลายสวนผลไม้ ผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งบ้านเรือนของเกษตรกรในพื้นที่เช่นเดียวกัน
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีศูนย์ปฏิบัติการตั้งอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ สำหรับพื้นที่ภาคใต้มี 8 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ขยายพันธุ์พืช 2 ศูนย์ ศูนย์ด้านอารักขาพืช 2 ศูนย์ ศูนย์พืชสวน 3 ศูนย์ และศูนย์ด้านแมลงเศรษฐกิจ 1 ศูนย์ คือ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร หรือที่รู้จักกันดีว่า “ศูนย์ผึ้งชุมพร” มีหน้าที่ให้การสนับสนุน ศึกษาทดสอบ วิจัย บริการทางการเกษตร และจัดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และที่ผ่านมากรมเองได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันให้ศูนย์ปฏิบัติการสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดและอำเภอ โดยบูรณาการกับจังหวัดภายใต้การบริหารงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อพัฒนาการเกษตรและแก้ปัญหาตามบริบทของพื้นที่ ดังตัวอย่างการส่งเสริม “เลี้ยงผึ้งไล่ช้าง” ในจังหวัดชุมพร ซึ่งได้ บูรณาการงบประมาณของจังหวัด ในการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกร ทั้งด้านความรู้ ปัจจัยการผลิต การติดตามให้คำแนะนำ โดยทำรั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน นับว่าได้ผลเป็นอย่างดี
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเฉพาะด้านการเลี้ยงผึ้งโพรงเพื่อป้องกันช้างป่าทำลายพืชเศรษฐกิจและเสริมรายได้ในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ 4 อำเภอที่มีแนวเขตติดกับป่าเลี้ยงผึ้งโพรงและขึงแนวลวดตลอดแนวเพื่อป้องกันช้างป่า เมื่อช้างป่าเข้ามาในแนวเขตจะทำให้รังผึ้งล้ม ผึ้งจะต่อยช้างและทำให้ช้างกลับหนีกลับไปในเขตป่า ทำให้ผลผลิตและสวนของเกษตรกรไม่ได้รับความเสียหาย เป็นการพัฒนาส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เสริมจากการเลี้ยงผึ้ง นอกจากนี้ ผึ้งช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกระดับหนึ่ง เกษตรกรจะมีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะจะไม่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากสารเคมีจะทำลายประชากรผึ้ง จึงเกิดระบบนิเวศที่ดีในการผลิต
นายสุวิทย์ ดำแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ผึ้งชุมพรได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2561 โดยเริ่มดำเนินการที่อำเภอหลังสวน พื้นที่ตำบลหาดยาย ตำบลวังตะกอ และตำบลนาขา เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ราย สนับสนุนรังผึ้งพร้อมอุปกรณ์จำนวนคนละ 4 ชุด โดยนำไปวางบริเวณแนวรอยต่อระหว่างป่า จากการดำเนินการในปีแรก เกษตรกรมีความพึงพอใจมาก มีเกษตรกรสนใจ
เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น ศูนย์ฯ จึงได้ขยายผลโครงการให้คลอบคลุม 4 อำเภอคือ อำเภอสวี ทุ่งตะโก หลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งศูนย์ฯ มีแผนในการดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 ถือเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับช้างป่าแบบยั่งยืน จากการการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี