เกษตรเขต 5 เชื่อมโยงเครือข่าย “เพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุดภาคใต้” ยกระดับตลาดสู่การประมูล มังคุดเป็นราชินีผลไม้ รสชาติอร่อย วิถีชีวิตของเกษตรกรภาคใต้ผูกพันกับการทำสวนมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ผลผลิตมังคุดสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท จากการพัฒนาคุณภาพผลผลิตมังคุดของภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล และโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งผลให้มังคุดในพื้นที่ภาคใต้ มีคุณภาพดีและมีลักษณะเฉพาะแต่ละจังหวัด พื้นที่หลัก ๆ ในการผลิตมังคุดคุณภาพ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนองและนครศรีธรรมราช โดยรูปแบบการผลิตมีทั้งกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และแปลงใหญ่ ทั้งนี้เกษตรกรเริ่มใช้วิธีการประมูลราคาในปี 2562 สามารถจำหน่ายมังคุดได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป และมีผลตอบแทนที่ดีกว่า อนึ่ง มาตรฐานมังคุดในการประมูลของแต่ละกลุ่มแต่ละจังหวัดนั้นยังมีความแตกต่างกันอยู่ และมิได้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงมีแนวคิดในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพมังคุดภาคใต้เพื่อการประมูลขึ้น นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกมังคุด 246,258 ไร่ ปีนี้คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 153,208 ตัน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านรสชาติและคุณภาพ เช่น มังคุดภูเขาลานสกา มังคุดในสายหมอกเบตง มังคุดพังงา มังคุดระนอง และมังคุดชุมพร เป็นต้น ในปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนงบประมาณ ในการจัดเวทีสัมมนาเพื่อพัฒนา กลุ่มเกษตรกร แปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานเพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุดภาคใต้ โดยการสัมมนาครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมโรงแรมมรกตทวิน อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนเกษตรกรกลุ่มผลิตมังคุดคุณภาพจากจังหวัดชุมพร ระนองและนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวม 60 คน จัดให้มีการบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมังคุด โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนรุ่ง เบญจมาศ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี และร่วมกันระดมความคิดในการจัดทำมาตรฐานมังคุดเพื่อการประมูลของภาคใต้ ต่อมาครั้งที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 1 - 2 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งนี้เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดภาคใต้ ได้เชื่อมโยงตลาดกับผู้ประกอบการภายในประเทศและตลาดส่งออกต่างประเทศ เช่น บริษัทไทยซีเลคเต็ด โปรดักส์ อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต) บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) โดยมีผู้แทนกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ผลิตมังคุดคุณภาพ จากจังหวัดชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา พัทลุง ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าร่วมจำนวน 49 ราย มีการคัดเลือกคณะกรรมการเครือข่ายมังคุดภาคใต้ และทบทวนการจัดทำมาตรฐานมังคุดภาคใต้เพื่อการประมูล ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การรวมกลุ่มเกษตรกร การรวบรวมผลผลิต และกำหนดมาตรฐานคุณภาพ ยกระดับ การขายด้วยวิธีการประมูลนั้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถต่อรองราคากับผู้ค้าและผู้ส่งออกได้ สามารถตอบโจทย์ของการรวมกลุ่มอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ หรือกลุ่มเกษตรกร หากแต่ต้องสร้างมาตรฐานและวิธีปฏิบัติให้มีมาตรฐาน และการบริหารจัดการที่เป็นระบบ