14 สิงหาคม 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจราชการมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านของ อกม. จาก 14 จังหวัดภาคใต้ กว่า 260 คน และมอบต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพร ตามโครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด - 19 และเยี่ยมชมนิทรรศการอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านต้นแบบ ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ “อกม.” ทำหน้าที่เป็นผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการคัดเลือกหมู่บ้านละ 1 คน จากที่ประชุมอาสาสมัครเกษตรและผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน จาก 16 สาขา ได้แก่ อาสาสมัครเกษตรและสหกรณ์ อาสาสมัครฝนหลวง ครูบัญชีอาสา ประมงอาสา อาสาปศุสัตว์ หมอดินอาสา อาสาสมัครสหกรณ์ อาสาสมัครชลประทาน เศรษฐกิจการเกษตรอาสา อาสาสมัครปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาสาสมัครชาวนาชั้นนำ อาสาสมัครครูยาง สารวัตรเกษตร หม่อนไหมอาสา Q อาสา และเกษตรหมู่บ้าน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบการคัดเลือก อกม. เพื่อทำหน้าที่จัดเก็บ รวบรวมและรายงานข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรของหมู่บ้าน ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเกษตร ในหมู่บ้าน การเฝ้าระวังและช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ พร้อมรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย อกม. จะอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี ปัจจุบันทั่วประเทศ มีจำนวน อกม. รวม 75,155 ราย และในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีจำนวน 8,677 ราย นอกจากบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้แล้ว อกม. ยังช่วยปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ด้วยจิตอาสา อย่างที่ผ่านมา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก อกม. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ลงพื้นที่เคียงข้างกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลโครงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เก็บรวบรวมใบสมัครนำส่งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือการจัดการพื้นที่การระบาด โดยการนำแมลงควบคุมศัตรูพืชไปปล่อยในพื้นที่การเกษตร เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งการรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และนำมาแจ้งแก่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที สำหรับคุณสมบัติของ อกม. จะต้องเป็นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน มีอายุไม่เกิน 65 ปี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องมีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญด้านการเกษตร อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและสังคม มีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ที่สมัคร มีสุขภาพแข็งแรง และมีความสนใจกระตือรือร้นในงานด้านพัฒนาการเกษตร มีความเสียสละ เอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความประพฤติดีเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชน และสามารถติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ได้ รวมทั้งนำความรู้ เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับถ่ายทอดสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายได้ และขึ้นทะเบียนความเป็นเกษตรกรกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ อกม. จะได้รับคือ โอกาสเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านการเกษตรตามที่กระทรวงเกษตรฯ จัดขึ้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีรายได้ตอบแทน แต่ อกม. ทุกคนยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง ให้ข้อมูลด้วยความรู้ที่แม่นยำ พร้อมบริการประสานความช่วยเหลือแก่เกษตรกร สิ่งเหล่านี้ คือความเสียสละของ อกม. อย่างแท้จริง นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการจัดเวทีพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพอาสาสมัครเกษตรระดับเขต “อกม. พอเพียงเลี้ยงชีวิต สู้โควิด - 19 ” เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ทักษะในการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และแสดงผลงาน/ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ อกม. โดยจัดให้มีเวทีเสวนา หัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานของ อกม. ภายใต้สถานการณ์ โควิด – 19 ” การจัดแสดงนิทรรศการของ อกม. ต้นแบบ และการเข้ารับความรู้ในฐานความรู้ต่างๆ จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 การผลิตและขยายพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชพันธุ์ดี ฐานที่ 2 การผลิตและขยายพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชพันธุ์ดี ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ฐานที่ 3 การผลิตและขยายพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพรตามโครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้ โควิด – 19 ฐานที่ 4 การปลูกพืชสมุนไพรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช และฐานที่ 5 การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการพัฒนา ศักยภาพของ อกม. และเกิดการสร้างเครือข่ายในการนำไปสนับสนุนงานของกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป