เกษตรเขต 5 หนุนเกษตรกรผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวท้องถิ่นพันธุ์ดี

เกษตรเขต 5 หนุนเกษตรกรผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวท้องถิ่นพันธุ์ดี
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เผยว่ามะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของไทย โดยเฉพาะมะพร้าวแกง เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในด้านการประกอบอาหาร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และในภาคอุตสาหกรรม สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งของกินของใช้ เวชสำอาง สุขภาพและความงาม
ในปี 2563 คาดการณ์ผลผลิตประมาณ 0.846 ล้านตัน มีความต้องการใช้มะพร้าว 1.092 ล้านตัน แบ่งเป็นใช้ในประเทศร้อยละ 80 และนำเข้าร้อยละ 20 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปกะทิสำเร็จรูป (73%) มะพร้าวหัวขูด (25%) และอื่น ๆ (2%) สถานการณ์ราคาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงขณะนี้ถือว่าค่อนข้างดี เนื่องจากมะพร้าวได้กลายเป็นพืชอุตสาหกรรม ป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตกะทิบรรจุกล่อง
บางช่วงมะพร้าวผลแห้งมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรสนใจปลูกมะพร้าวกันมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรปลูกมะพร้าวกว่า 2 แสนราย พื้นที่ปลูกมะพร้าวรวมกันทั้งประเทศกว่า 1.1 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 754 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับภาคใต้มีพื้นปลูกมะพร้าวกว่า 3 แสนไร่ มากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากภาคกลาง โดยสามารถผลิตมะพร้าวออกสู่ตลาดได้ 402,239 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,468 ล้านบาท มีพื้นที่ปลูกมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบแปลงใหญ่ ภาคใต้มีแปลงใหญ่มะพร้าว จำนวน 46 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,620 ราย ส่งเสริมการผลิตมะพร้าวให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 1,267 ราย และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายได้รับมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด
อนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภาคใต้บางส่วนเป็นรายใหม่ ยังจัดการด้านการผลิตและคุณภาพได้ไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ต้นพันธุ์มะพร้าวที่เกษตรซื้อมาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นำโรค แมลงเข้ามาสู่แปลงปลูก ก่อให้เกิดปัญหาแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว อีกทั้งมะพร้าวบางพันธุ์ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก อาจทำให้ต้นมะพร้าวเหล่านี้มีความอ่อนแอ ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวในท้องถิ่นที่มีคุณภาพดีได้เอง ก็จะเป็นวิธีการที่ช่วยลดทั้งต้นทุนในการซื้อต้นพันธุ์ ซึ่งบางแหล่งมีราคาสูง และช่วยลดการระบาดของโรคแมลงจากนอกพื้นที่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์มะพร้าวท้องถิ่นที่มีลักษณะดีเหมาะสมกับพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ซึ่งกำกับ ดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำ และพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรผู้นำในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จึงได้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร “การผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวท้องถิ่นพันธุ์ดี” ให้แก่เกษตรกรผู้นำที่ผลิตมะพร้าวในภาคใต้ เพื่อให้เกษตรผู้นำเหล่านี้ได้นำความรู้ไปพัฒนาแปลงผลิตมะพร้าวของตนเอง และถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ตลอดจนพัฒนาเป็นแปลงต้นแบบการเรียนรู้ให้แก่เกษตรทั้งในและนอกพื้นที่ เป็นการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตมะพร้าวภาคใต้ โดยการจัดการอบรมแบ่งเป็น จำนวน 3 รุ่น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป้าหมายเกษตรกร 100 ราย ในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา อีกจำนวน 2 รุ่น ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์วิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตรร่วมด้วย
นอกจากเกษตรกรจะได้รับความรู้เรื่องการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวคุณภาพแล้ว เกษตรกรยังได้ฝึกปฏิบัติจริงในแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าวอีกด้วย หากเกษตรกรที่เข้าอบรมครั้งนี้ได้นำเอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การผลิตมะพร้าวในภาคใต้ให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดได้ต่อไป นายสุพิท กล่าวทิ้งท้าย