มุมมองการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องมองไปที่บริบทพื้นที่ก่อน โดยสำหรับบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกการคมนาคมขนส่งยังไม่ดีมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศไทย โดยเฉพาะหากนำไปเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่มีความพร้อมมากกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมถึง ระบบไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ระบบการขนส่งทางราง ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นจากการวางระบบการศึกษาที่ดีเพื่อผลิตคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบงาน ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยหลักของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชน กรณีของบริษัทฯ ก็เช่นกัน มีการอ้างถึงการขอชดเชยค่าขนส่งทางเรือ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกทางเรือได้โดยตรงและเป็นเหตุให้เป็นต้นทุนของบริษัทฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากมีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มีการอำนวยความสะดวกที่ดีกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้จะประหยัดได้มากกว่าในแง่กลยุทธ์ทางธุรกิจ ทางพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมิอาจจะพัฒนาให้เป็นไปได้ตามเป้าหมาย จึงจะต้องย้อนกลับมาทบทวนการทำงานกันใหม่ว่า หากจะเร่งรัดการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมไปยังการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น จำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนานใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจประชาชนเป็นขนานใหญ่ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งให้เป็นพื้นที่การค้าและการลงทุน เชื่อมต่อกับโลกมุสลิม ในอนาคตให้ได้มากกว่าที่จะใช้นโยบายการอุดหนุน หรือ การชดเชยส่วนต่างการขนส่ง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวทำได้ยาก เพราะอาจจะขัดต่อหลักการการค้าเสรีตามที่ WTO ได้ตั้งหลักการไว้ รวมทั้ง จะเกิดคำถามแก่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่เอกชนในพื้นที่เท่านั้น ยังอาจจะรวมถึงเอกชนภายนอกพื้นที่ที่การที่การสนับสนุนของรัฐดูแลไม่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญสุดคือทำให้เอกชนสามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจได้บนขาของตนเอง ซึ่งเป็นหลักการที่มั่นคงและยั่งยืน ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การเปลี่ยนผังเมืองเพื่อให้รองรับการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าเรื่องดังกล่าว ศอ.บต. ในฐานะหน่วยรับผิดชอบจะได้หยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดดำเนินการตามที่ภาคเอกชนร้องขอ แต่สาเหตุสำคัญที่ต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกัน ก็คือ พื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมผสมผสานนั้น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วง เพื่อรองรับการลงทุนแต่เริ่มแรกนับตั้งแต่ประกาศนโยบายออกมาแล้ว จำนวนกว่า 3 พันไร่เศษ แต่ด้วยเหตุผลบางประการจากการเจรจาธุรกิจของเอกชน หรือเงื่อนไขอื่นใดที่แทรกแซงการทำงานเข้ามาก็ดี ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้เป็นผลทำให้บริษัทฯ ต้องไปซื้อที่ดินในพื้นที่ผังสีเขียวในราคาที่ถือว่าแพงกว่าและไม่นับรวมการถมที่อีกเกือบหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดปัตตานีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการทำงาน เพียงแต่การทำงานนั้น จะต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่รับน้ำของจังหวัดปัตตานีหากการดำเนินการไม่รอบคอบก็จะกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่ละหน่วยงานที่กำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอน และสำหรับ ผู้จัดการ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการอ้างถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. “หลอกขายฝัน ย้ายจากจีน ตั้งโรงงงานปัตตานี ลงทุน 400 ล. ถูกลอยแพ เจ๊ง” จนนำไปสู่การทำลายความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อการลงทุน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทางศอ.บต. ได้ทำหน้าที่ประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะศูนย์กลางการพัฒนานั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของหน่วย เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องได้ไปวิเคราะห์และ จัดแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามที่เอกชนร้องขอให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรการ การชดเชยค่าขนส่ง กระทรวงการคลังก็จะรับไปพิจารณา ผลเป็นประการใด จึงขึ้นอยู่กับส่วนราชการนั้น โดยที่ ศอ.บต. ไม่มีอำนาจหน้าที่ไปแทรกแซงการทำงานได้ อย่างดีที่สุด คือ ความพยายามทำให้การทำงานนั้นเร็วขึ้น ลดเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดอันเนื่องมาจากระเบียบและกฎหมาย แต่บางเรื่อง ที่เป็นมาตรฐานการทำงานทั้งของประเทศและของโลกก็ไม่อาจไปแทรกแซงได้ แม้ว่าจะเป็นข้อสั่งการ ของนายกรัฐมนตรีก็ตาม กรณีเช่นนี้ จึงต้องมีการทบทวนนโยบายการอำนวยความสะดวกอีกครั้งว่า วันนี้ จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมีหน่วยที่เป็น One Start one Stop Service อย่างแท้จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องลดเงื่อนไขการทำงานที่ล่าช้าและหลายขั้นตอนเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย ของภาคเอกชนที่หวังดีจะลงไปช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความกินดี อยู่ดี และช่วยให้เหตุการณ์ในพื้นที่ลดลงเป็นพื้นที่ปกติเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย อนึ่ง ทราบเป็นการภายในว่า หากบริษัทฯ ยังคงมีการดำเนินการในพื้นที่อยู่ ศอ.บต. ก็ได้เตรียมการดูแลและช่วยเหลือในเรื่องที่จำเป็นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเอกชน ไม่เพียงแต่บริษัทฯ นี้ เท่านั้น ยังรวมถึง อีกกว่า 800 ธุรกิจ-วิสาหกิจชุมชนกระจายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นคือ การประสานงานไปยัง การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการขนส่งทางรางเชื่อมโยงไปยังภาคตะวันออกเพื่อให้ส่งสินค้าได้ และใช้ราคาขนส่งที่ต่ำ โดยขณะนี้ได้มีการเตรียมการที่จะทำบันทึกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีความพยายามในการประสานงานเรื่องการฝึกและพัฒนาทักษะพนักงานที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทฯ การขอรับสิทธิส่วนลดค่าประกันสังคม การประกันภัยและอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมพิเศษนอกจากที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในฐานะเมืองต้นแบบได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนสูงสุดในประเทศไทยแล้ว