คุมเข้มทุเรียนใต้ สสก.5 สงขลาขานรับมาตรการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปี 2564 เข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการให้จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัด โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมายย้ำไม่ให้มีการจำหน่ายทุเรียนอ่อนเด็ดขาด นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 594,439 ตัน จากพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 465,646ไร่ ในพื้นที่ปลูกทั้งหมด 630,604 ไร่ ทยอยออกสู่ตลาดและคาดว่าจะออกมากช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนกันยายน2564 และยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ให้ผลผลิตกว่า 160,000 ไร่ เนื่องจากทุเรียนมีกระแสได้รับความนิยมอย่างมาก เกษตรกรจึงโค่นพืชอย่างอื่นมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 20,000-25,000 ไร่/ปี สำหรับราคาคิดว่าใกล้เคียงกับปี 2563 ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 -120 บาท หากเป็นทุเรียน Premium หรือขายตลาดออนไลน์ ราคาจะสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทุเรียนตลาดหลักประเทศจีนยังมีความต้องการปริมาณมาก คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนราวๆ 50,000 ล้านบาท โดยคุมเข้มเรื่องคุณภาพไม่ให้มีการจำหน่ายทุเรียนอ่อนเด็ดขาด เพราะการเร่งตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดในช่วงต้นฤดูกาล เพื่อหวังทำกำไรนั้น จะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อสำหรับเรื่องนี้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัด โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมายได้แก่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนายสุพิท จิตรภักดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลผลิตทุเรียนในภาคใต้เกือบร้อยละ 60 เป็นผลผลิตจากจังหวัดชุมพร ประกอบกับล้งส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพรเช่นเดียวกัน ขณะนี้จังหวัดชุมพรได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวแล้วภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้กำหนดแนวทางในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด และสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่าง เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ดังนี้ 1) เก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 2) มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ 3) การกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนจังหวัดชุมพร 4) จัดทำฐานข้อมูลจำหน่ายทุเรียนแผงริมทาง มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพรดำเนินการ 5) จัดทำฐานข้อมูลโรงคัดแยกบรรจุที่ได้รับมาตรฐาน GMP 6) มาตรการลงโทษ(ล้ง)ที่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ ตักเตือน ยึดใบอนุญาต มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดชุมพรดำเนินการ7)กำหนดมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 8) บทลงโทษผู้ซื้อขายทุเรียนอ่อน9) จัดอบรมให้เจ้าหน้าที่เรื่องการวิเคราะห์ทุเรียนคุณภาพและสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจสอบ10) เกษตรกรต้องมีการบันทึกข้อมูลการผลิตและแจ้งวันทุเรียนดอกบานและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยให้แจ้งข้อมูลที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เน้นขับเคลื่อนชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับหมู่บ้าน โดย อกม.จะมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ทุเรียนในหมู่บ้านให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ และแจ้งมายังนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบตำบล โดยก่อนตัดแจ้งให้ชุดปฏิบัติการทราบก่อน หากมีทุเรียนอ่อนออกจากตำบลชุดปฏิบัติการในพื้นที่ต้องรับผิดชอบเบื้องต้นและรายงานให้ อำเภอ จังหวัดทราบทันที เพื่อสกัดไม่ให้ออกไปสู่ตลาด ทั้งนี้ หากพบเห็นการซื้อขายทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ สสก.5 สงขลา ได้เฝ้าระวังจัดการคุณภาพโดยจัดทำโครงการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ ที่เกิดจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของภาคใต้ ร่วมกับ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยการจัดถ่ายทอดความรู้ เรื่องการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแบบผสมผสานให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัดและอำเภอไปแล้วในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และได้สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ กับดักกาวเหนียว ถุงห่อผลทุเรียนพร้อมอุปกรณ์ในการห่อ และสารกำมะถัน เพื่อจัดทำเป็นแปลงต้นแบบ ให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ พร้อมจัดทำเอกสารและแผ่นพับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในสวนทุเรียนแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติอีกด้วย นายสุพิท กล่าวทิ้งท้าย