เกษตรรุกขยายผลงานวิจัย และนวัตกรรมสู่เกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับงานตามนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเห็นได้ว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ดังนั้นการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการยกระดับการผลิต ขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ตามแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2564 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เน้นย้ำให้นำผลงานวิจัย และนวัตกรรม จากแหล่งวิชาการต่างๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และองค์กรการวิจัยต่างๆ เช่น สวก. สกว. สวทช. รวมถึงงานวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรไปขยายผลให้แก่พี่น้องเกษตรกรผ่านโครงการ กิจกรรมต่างๆ ที่ได้จัดสรรงบประมาณลงไป ทั้งในแง่ของการพัฒนา และการแก้ปัญหาการเกษตรของพื้นที่ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในส่วนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้ถ่ายทอดนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติให้แก่ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรใน 14 จังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานและศูนย์ปฏิบัติการ ผ่านเวที การประชุมต่างๆ เพื่อร่วมวางแผนขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรของภาคใต้ การขยายผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปสู่เกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรนำผลงานวิจัยมาเสนอเป็นทางเลือกให้เจ้าหน้าที่นำไปขยายผล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นต้น โดยกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ซึ่งในปี 2564 ภาคใต้ได้คัดเลือกผลงานวิจัยไปขยายผลและต่อยอด รวมทั้งสิ้น 56 เรื่อง เช่น การใช้ Application ในการวางแผนและติดตามสถานการณ์การผลิต การพัฒนาฐานข้อมูลไม้ผลตามฤดูกาลร่วมกับมทร.ศรีวิชัย ไสใหญ่ วิธีการที่เหมาะสมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกร ระบบน้ำอัจฉริยะในสวนทุเรียน การใช้แหนแดงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต การศึกษาวัสดุปลูกจากดินผสมที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผัก การใช้เทคโนโลยีการให้น้ำด้วยอ่างน้ำจากยางรถยนต์เก่าและระบบไส้ตะเกียงในพืชผัก การจัดการธาตุอาหารเพื่อแก้ปัญหาการเกิดเนื้อแก้วยางไหลในมังคุด ระบบ Smart farm ในการเลี้ยงผึ้งโพรง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบปลากากรำข้าว เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและสารต้านอนุมูลอิสระ การใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน การใช้ถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ปรับปรุงดินเพื่อการเกษตร กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงานระดับเขต และแนวทางการดำเนินงาน โดยตลอดกระบวนการจะมีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง พร้อมติดตามความก้าวหน้าทุกระยะ และสรุปผลในการสัมมนาปลายปีร่วมกันอีกครั้ง นายสุพิท กล่าวทิ้งท้าย